ศูนย์ข่าวศรีราชา - แมงกะพรุนนับแสนตัวตายเกลื่อน ชายหาดบางแสน ยาวกว่า 1 กิโลเมตร สาเหตุเกิดจากแพลงก์ตอนบลูม ทำให้ขาดอากาศหายใจ ส่วนประชาชนจะเก็บไปทำเป็นอาหารนั้นไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะแพลงก์ตอนดังกล่าวไม่เป็นพิษ และมีขั้นตอนการทำที่ถูกต้อง
วันนี้ (12 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณชายหาดบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี มีแมงกะพรุนตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกิดภาวะแพลงก์ตอนบลูม โดยน้ำทะเลมีสีเขียว และส่งกลิ่นเหม็น ที่สำคัญน้ำทะเลขาดออกซิเจน ส่งผลให้แมงกะพรุนหลายชนิด เช่น แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนลอดช่อง และแมงกะพรุนขี้ไก่ ตายเป็นจำนวนนับแสนตัว ระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตรตลอดชายหาดบางแสนนั้น
ด้าน ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงกรณีที่น้ำทะเลเป็นสีเขียวนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งปีที่ผ่านมา เกิดขึ้น 4 ครั้งแล้ว โดยเกิดจากการบลูมของแพลงก์ตอนกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต ชนิด Noctilucascintillans ที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า “นอคติลูกา” และเป็นแพลงก์ตอนชนิดเดียวกับที่เคยเกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมในทุกครั้งที่ผ่านมา
สาเหตุการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเป็นสีเขียวในครั้งนี้เกิดจากสาเหตุเดิมเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้น คือ เกิดจากการเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว (Bloom) ของแพลงก์ตอน กลุ่มไดโนเฟลกเจลเลต (dinoflagellate) ที่มีชื่อว่า “นอคติลูกา” (Noctiluca scintillans) จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกกันว่า “ขี้ปลาวาฬ” หรือ “น้ำทะเลเปลี่ยนสี” หรือ “red tide” ตามแต่จะเรียกกัน
โดยสาเหตุที่เกิดปรากฏการณ์นั้นมักจะมีฝนตกทำให้มีการชะล้างเอาธาตุอาหารไหลลงสู่ทะเลในปริมาณที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับมีแดดจัดในวันถัดไปทำให้ปัจจัยในการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนครบกระบวนการจึงเกิดการเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอน ทำให้มองเห็นน้ำทะเลมีสีเขียวเข้ม และมีเซลล์นอคติลูกาแขวนลอยอยู่ในน้ำหนาแน่น
ส่วนสาเหตุที่สัตว์น้ำตายเพราะการขาดอากาศหายใจ เพราะในช่วงกลางคืนไม่มีการสังเคราะห์แสงเกิดขึ้น และแพลงก์ตอนพืชแย่งออกซิเจนในน้ำใช้จนน้ำทะเลเกิดภาวะขาดออกซิเจนละลาย ขาดอากาศหายใจจึงตาย และหลังจากนั้น ซากพืช ซากสัตว์ที่ตายมีการย่อยสลายจึงส่งกลิ่นดังกล่าว
ดร.เสาวภา กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่มีแมงกะพรุนตายเป็นจำนวนมากนั้นเนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูกาลของแมงกะพรุน ซึ่งส่วนใหญ่ชาวประมงจะจับไปดองขาย แต่ในช่วงนี้ราคาไม่ดีจึงไม่มีใครไปจับ จึงทำให้ตายเกยหาดเป็นจำนวนมาก โดยหากชาวบ้านจะนำไปรับประทานนั้นไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะมีขั้นตอนการทำที่ถูกต้อง โดยจะตัดหนวด และลำไส้ทิ้ง และจะใช้ส่วนเนื้อนำไปดองรับประทานเท่านั้น นอกจากนั้น แพลงก์ตอนดังกล่าวไม่เป็นพิษด้วย
สำหรับนักท่องเที่ยวจะลงเล่นน้ำทะเลนั้น คาดว่าเห็นสภาพน้ำ และกลิ่นเหม็นแบบนี้คงไม่มีใครลงเล่นน้ำอย่างแน่นอน แต่บางครั้งมีคนลงไปเล่นน้ำ และเกิดอาการคัน อาจเนื่องมาจากเมือกของสาหร่ายไปถูกผิวหนังทำให้เกิดการระคายเคืองเท่านั้น แต่จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด