xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ลาวลั่นสิ้นปี 2020 ต้องหลุดพ้นประเทศด้อยพัฒนา เดินหน้าผลิตพลังงานไฟฟ้าขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายทองลุน  สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว)
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว “ทองลุน สีสุลิด” เยือนขอนแก่น พร้อมบรรยายพิเศษที่วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มข. ลั่นสิ้นปี 2020 ลาวต้องหลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนา และอีก 10 ปีหลังจากนั้นต้องก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง โดยรายได้หลักของชาติยังคงเป็นอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าขายให้เพื่อนบ้าน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อหัวค่ำวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 18.30 น. ที่ห้องประชุมพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “สปป. สู่อนาคตการพัฒนา” ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีพ่อค้า นักธุรกิจ คณาจารย์และนักศึกษาเข้ารับฟังหลายร้อยคน

ทั้งนี้ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป.ลาว ว่ายังดำเนินการตามแนวนโยบายพัฒนาชาติภายใต้ 17 แผนการหลัก เพื่อให้ สปป.ลาวหลุดพ้นจากประเทศที่ด้อยพัฒนาให้สำเร็จ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้กับนักธุรกิจจากต่างประเทศและภายในประเทศได้ลงทุนและทำธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนชาวลาว

โดยแผนการในระยะแรกในปี 2018 จะมุ่งเน้นการทำวิจัยและศึกษาข้อมูลถึงความเป็นไปได้ในแนวทางการดำเนินงานทุกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม และนำพา สปป.ลาวประกาศหลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาให้ได้ในปี 2020 และในปี 2025 สปป.ลาวจะก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลาง

ซึ่งรายได้ของคนลาวต่อหัวต่อปีจะต้องไม่น้อยไปกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2030 สปป.ลาวจะเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลางถึงระดับสูง แผนการทั้งหมดได้ถูกกำหนดไว้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะต้องร่วมกันดำเนินงานเพื่อสร้างอาชีพ สร้างงาน และเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้แก่ประชาชนชาวลาวทั้ง 6 ล้านคนให้สำเร็จ

นายทองลุนกล่าวต่อว่า มาเยือนไทยครั้งนี้ได้นำคณะฯ เข้าพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งลาวนั้นเป็นประเทศที่ผลิตพลังงานเพื่อจำหน่ายโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในการหารือกับตัวแทนรัฐบาลไทย ลาวได้ขอร้องให้รัฐบาลไทยเพิ่มสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากลาว จากเดิมปีละ 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องและสรุปตกลงกันที่รัฐบาลไทยจะซื้อไฟฟ้าจากลาวปีละ 9,000 เมกะวัตต์

ขณะที่การพัฒนาร่วมกันในด้านต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว-ไทย ซึ่งลาวจะเริ่มการก่อสร้างในช่วงเดือน ธ.ค. 2559 นี้ ดังนั้นยังคงจะต้องขอแรงสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเพื่อให้สามารถที่จะเชื่อมต่อทางรถไฟต่อกันให้ได้ทั้ง 3 ประเทศ

“ขณะนี้ลาวเป็นประธานอาเซียน ก็จะมีการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของทั้ง 10 ประเทศอย่างเต็มที่ และลาวพร้อมให้การสนับสนุนแผนงานขับเคลื่อนของกลุ่มประเทศตามลำน้ำโขง CLMVT อย่างเต็มความสามารถเช่นกัน เพื่อให้การดำเนินงานร่วมกันของทุกฝ่ายนั้นบรรลุข้อตกลงและเป็นไปในแนวทางการพัฒนาร่วมกัน” นายทองลุนกล่าว และว่า

ขณะที่การส่งเสริมการค้าและการลงทุนนั้น ลาวจะเป็นประเทศเชื่อมต่อหรือคนกลางในการประสานงานกับนานาประเทศในรูปแบบของการเปิดกว้างและรับฟังในทุกรายละเอียด และแม้ว่าลาวจะไม่มีท่าเรือที่จะเป็นศูนย์กลางทางการขนส่ง แต่ลาวจะเป็นศูนย์กลางในการคมนาคมขนส่ง และมีจุดกระจายสินค้า หรือเรียกว่าท่าเรือบก ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สำหรับปมปัญหาและพื้นที่พิพาททับซ้อนระหว่างไทยกับลาว โดยเฉพาะตามแนวเขตชายแดนและพื้นที่ตามลำน้ำโขง รัฐบาลลาวให้การสนับสนุนในการร่วมสำรวจและกำหนดเขตแดนให้ชัดเจนเช่นกัน โดยขอร้องให้ไทยจัดส่งนักวิชาการ โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมศึกษาในรายละเอียดต่างๆ

สำหรับภารกิจของนายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น นอกจากปาฐกถาพิเศษแล้วยังได้เข้ารับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน รวมทั้งเยี่ยมชมและพบปะผู้ประกอบการไทยที่ประสบผลสำเร็จและลงทุนใน สปป.ลาว, การมอบเหรียญชัยมิตรภาพแก่คณะกรรมการสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ การร่วมประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญตามขนบธรรมเนียมประเพณีของคนอีสาน

หลังจากนั้น คณะของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาวได้รับประทานอาหารค่ำร่วมกับคณะกรรมการสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ, คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ทางคณะเดินทางกลับด้วยเที่ยวบินพิเศษของสายการบินลาว จากท่าอากาศยานขอนแก่นไปยังท่าอากาศยานวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

กำลังโหลดความคิดเห็น