xs
xsm
sm
md
lg

ประปาพัทยาเผยสถานการณ์น้ำดิบเพียงพอรองรับระยะยาวหลังทำ MOU กรมชลฯ ผันน้ำจากระยอง 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา- ประปาพัทยาเผยสถานการณ์น้ำดิบเพียงพอรองรับระยะยาวหลังทำ MOU กรมชลฯ ผันน้ำจากระยอง 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ขณะที่ปีนี้เข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์ “ลานีญ่า” ส่งผลให้ฝนตกชุก คาดน้ำดิบเต็มความจุอ่างกักเก็บรองรับก่อนสิ้นตุลาคมนี้

นายสุทัศน์ นุชปาน ผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา เปิดถึงสถานการณ์น้ำดิบในปัจจุบันว่า สำหรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่เมืองพัทยานั้นแต่เดิมจะใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำ 5 อ่างหลัก ประกอบด้วย หนองกลางดง มาบประชัน ชากนอก ห้วยสะพาน และห้วยขุนจิต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ซึ่งจะมีปริมาตรความจุน้ำได้รวมกว่า 40 ล้าน ลบ.ม.

โดยในปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำของทั้ง 5 อ่างค่อนข้างมีความสมบูรณ์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำดิบรวมกว่า 30 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปีนี้ปริมาณน้ำที่เหลืออาจจะไม่มีปริมาณเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากประสบปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วงจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ่” จึงทำให้มีปริมาณฝนที่จะไหลเข้าสู่อ่างไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการประปาพัทยาได้ทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกับกรมชลประทานในการผันน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำปะแสร์ ในพื้นที่ จ.จันทบุรี มาลงยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ในพื้นที่จังหวัดระยอง ก่อนผันเข้ามาสู่ระบบประปาพัทยาในปริมาณอีกปีละ 40 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว จึงทำให้ภาวะการขาดแคลนน้ำหมดไป แต่ก็คงจะต้องช่วยกันประหยัดน้ำ และคาดหวังจะให้น้ำฝนไหลลงอ่างมากที่สุดเพื่อสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนปีนี้ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า ในพื้นที่เมืองพัทยามีฝนตกลงมาจำนวนน้อย อีกทั้งฝนที่ตกส่วนใหญ่จะไปอยู่ในพื้นที่ด้านล่าง ไม่ได้ตกอยู่เหนือพื้นที่ของอ่างกักเก็บ ขณะที่จากภาวะแห้งแล้งที่ส่งผลกระทบมาเป็นเวลานานจึงทำให้น้ำฝนที่จะไหลเข้าสู่พื้นที่กักเก็บก็ถูกดูดซึมลงสู่ผิวดิน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่อ่างไม่มากนัก ซึ่งจากนี้ยังคงตอบไม่ได้ว่าในช่วงในนี้จะสามารถกักเก็บน้ำได้มากเท่ากับปริมาณความจุหรือไม่

แต่จากการประสานไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา ก็พบว่า ปีนี้เข้าสู่ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า “ลานีญ่า” ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีฝนตกชุก จึงคาดการณ์ว่า ก่อนช่วงเดือนตุลาคมนี้จะมีฝนตกลงมาเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้มีน้ำฝนที่ไหลลงสู่อ่างกักเก็บได้มากขึ้นเช่นกัน และคงจะทำให้สถานการณ์น้ำในพื้นที่เมืองพัทยาไม่ประสบปัญหาต่อไปในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น