xs
xsm
sm
md
lg

ซ้อมใหญ่ แผนรับเหตุไฟไหม้ ร.ร.เด็กพิเศษน่าน พบปัญหาอื้อ-บางคนตกใจปีนหน้าต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - หลายหน่วยงานร่วมซ้อมแผนเผชิญเหตุไฟไหม้โรงเรียนเด็กพิเศษน่าน พบข้อจำกัดอื้อ โดยเฉพาะการสื่อสารเด็กหูหนวก-บกพร่องทางสติปัญญา ขณะที่เด็ก นร.บางคนตกใจไม่ยอมออกจากอาคารกับคนแปลกหน้า จนถึงขั้นปีนขึ้นขอบหน้าต่าง ครู-พี่เลี้ยงต้องปลอบกันวุ่น

วันนี้ (17 มิ.ย.) นายชนาธิป เสมแย้ม นายอำเภอภูเพียง จ.น่าน ได้ประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.น่าน, องค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว, สภ.ภูเพียง, หน่วยทหารจากมณฑลทหารบกที่ 38 ร่วมกันซ้อมแผนเสมือนจริงเหตุเพลิงไหม้โรงเรียนน่านปัญญานุกูล ทั้งนี้เพื่อซักซ้อมการอพยพขนย้ายเด็กพิเศษ ซึ่งมีทั้งผู้พิการทางการได้ยินและบกพร่องทางสติปัญญา และหาข้อจำกัดต่างๆ หาแนวทางแก้ไข วางแผน และเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์จริง

โดยคณะครูได้ช่วยกันขนย้ายเด็กพิเศษออกจากอาคารเรียน และอาคารนอน มารวมตัวกันที่อาคารอเนกประสงค์ พร้อมพยายามสอนและอธิบายถึงวิธีการเอาตัวรอดออกมาจากอาคารต่างๆ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ แต่เนื่องจากเด็กนักเรียนเป็นเด็กพิเศษที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน และบกพร่องทางสติปัญญา มีทั้งเด็กเล็กถึงเด็กโต จึงใช้แนวทางพี่ช่วยน้องและเพื่อนช่วยเพื่อน รวมถึงสาธิตการแจ้งเหตุ การดับเพลิงให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนและหน่วยกู้ภัย อบต.ฝายแก้วด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการซักซ้อมแผนเสมือนจริงพบว่ามีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารซึ่งต้องใช้ภาษามือ และการเข้าช่วยเหลือเด็กนักเรียนทำได้ยากเนื่องจากเด็กตกใจกลัวไม่ยอมออกจากอาคารไปพร้อมกับคนแปลกหน้า ทำให้ครูและพี่เลี้ยงต้องคอยเข้ามาปลอบประโลมให้หายกลัว ขณะที่เด็กนักเรียนบางคนตกใจจนปีนขอบหน้าต่างอาคาร

นายสมพงษ์ อุ่นใจ ผอ.รร.น่านปัญญานุกูล กล่าวว่า จากการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเสมือนจริงทำให้ทราบถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่ต้องนำมาหาแนวทางเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์จริง เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำมีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถม 6 ทั้งหมด 319 คน เป็นนักเรียนที่บกพร่องทางสติปัญญา 283 คน บกพร่องทางการได้ยิน 36 คน นักเรียนทั้งหมดจะต้องอยู่ในโรงเรียนตลอดเวลา โดยมีอาคารเรือนนอน จำนวน 8 อาคาร มีครูประจำแต่ละอาคาร 2 คน และพี่เลี้ยง 1 คน

ทั้งนี้ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในช่วงเวลากลางคืน การส่งสัญญาณแจ้งเตือนด้วยเสียงอาจทำไม่ได้ เนื่องจากเด็กนักเรียนมีความพิการทางการได้ยิน และเหตุเพลิงไหม้จะทำให้ไฟฟ้าดับ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษามือได้ จึงจะมีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรอง รับมือเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเพลิงไหม้

ด้านนายพิทักษ์ เสาวมาลย์ เจ้าหน้าที่ ปภ.น่าน กล่าวว่า จากการซักซ้อมแผนพบข้อจำกัดหลายด้านซึ่งจะนำมาพิจารณาหาแนวทางป้องกัน โดยเฉพาะเรื่องแถบสีสะท้อนแสงที่จะนำมาใช้เป็นกับอาคารต่างๆ เพื่อเป็นเส้นนำทางให้ออกจากอาคารในเวลากลางคืนได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนความรู้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะป้องกันเหตุเพลิงไหม้

นอกจากนี้ ปภ.น่าน เตรียมสำรวจโรงเรียนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะโรงเรียนประจำที่มีนักเรียนอยู่ในโรงเรียนในยามวิกาลซึ่งจะต้องสอนวิธีที่จะเอาตัวรอดและช่วยเหลือเพื่อนจากเหตุเพลิงไหม้ให้ได้






กำลังโหลดความคิดเห็น