xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมจัดงาน “วันกุ้งประจวบคีรีขันธ์” ครั้งที่ 4 วันเสาร์ 16 ก.ค.นี้ พร้อมเผยทางรอดการเลี้ยงกุ้งให้ผ่านวิกฤตโรคตายด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เตรียมจัดงานวันกุ้งประจวบคีรีขันธ์ ครั้งที่ 4 วันเสาร์ 16 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมประจวบแกรนด์ เมืองประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้หัวข้อทำไมในวิกฤตกุ้งจึงมีคนเลี้ยงรอดและยืนอยู่ได้ คาดเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมงานนับพันราย เผยไฮไลต์อยู่ที่การสัมมนาวิชาการจากเกษตรกรตัวอย่างที่จะมาบอกเคล็ดลับการเลี้ยงกุ้งให้ผ่านวิกฤตโรคตายด่วน หรือ EMS ไปได้

วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่โรงแรมประจวบแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายวิรัตน์ ทำนุราศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานวันกุ้งประจวบคีรีขันธ์ ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อทำไมในวิกฤตกุ้งจึงมีคนเลี้ยงรอดและยืนอยู่ได้ โดยมี นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายมนูญ ตันติกุล ประมงจังหวัด นายอนุสรณ์ พงษ์พานิช ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน

นายอนุสรณ์ พงษ์พานิช ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า กุ้ง ถือเป็นสินค้าประมงทะเลที่มีความสำคัญของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวชายทะเลถึง 224 กิโลเมตร ทุกอำเภอติดชายทะเล อาชีพประมงจึงเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวประจวบฯ นอกจากการทำประมงทะเลแล้ว ยังมีการเลี้ยงกุ้งทะเลที่นำรายได้มาสู่จังหวัดในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่พอเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายปี 2555 เกิดปัญหากุ้งที่ปล่อยเลี้ยงไปเพียง 20-30 วัน ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยการเริ่มเกิดในฟาร์มเลี้ยงกุ้งแบบทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ก่อนเริ่มแพร่กระจายเข้าสู่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วยเช่นกัน จนส่งผลกระทบทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งประสบภาวะขาดทุนจากการป่วยของกุ้ง ที่เรียกว่าโรคตายด่วน หรือ EMS ทำให้มีเกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกอาชีพเลี้ยงกุ้งไปในที่สุด

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รวมตัวกันเพื่อจัดการสัมมนาทางวิชาการเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยเริ่มจัดงานวันกุ้งประจวบคีรีขันธ์ ครั้งที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2556 และเตรียมจัดงานวันกุ้งประจวบคีรีขันธ์ ครั้งที่ 4 ในวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2559 ที่โรงแรมประจวบแกรนด์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้หัวข้อทำไมในวิกฤตกุ้งจึงมีคนเลี้ยงรอดและยืนอยู่ได้ เบื้องต้น คาดว่าจะมีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมงานนับพันราย โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การสัมมนาวิชาการจากเกษตรกรตัวอย่างที่จะมาบอกเคล็ดลับการเลี้ยงกุ้งให้ผ่านวิกฤตโรคตายด่วน หรือ EMS ไปได้ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนการจัดบูท และแสดงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรด้านการเพาะเลี้ยงกุ้ง จำนวน 42 บูท จาก 33 บริษัทที่เกี่ยวข้องต่อธุรกิจการเลี้ยงกุ้ง

นายไชโย เก่งตรง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ต.คลองวาฬ เปิดเผยว่า สิ่งที่เกษตรกรควรให้ความสำคัญนอกเหนือไปจากปัญหาโรคตายด่วนที่จะต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแล้ว คือ ต้องให้ความสำคัญต่อการผลิต เพราะจะส่งผลต่อราคาจำหน่ายกุ้ง หากไม่ศึกษาว่าควรเลี้ยงกุ้งเพื่อจับขายในช่วงเวลาใดบ้าง จะทำให้กุ้งมีมากจนเกิดไปราคาจะถูกลง ซึ่งราคาล่าสุด ขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม อยู่ที่ 145 บาทนั้น เป็นราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้ แต่จะต้องเป็นกุ้งที่เลี้ยงแบบโตเร็ว เพียงระยะเวลา 3 เดือนจับขาย หากปล่อยให้เนิ่นนานไปกว่านี้จะมีภาระต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งค่าอาหารกุ้ง และค่าจ้างแรงงาน ดังนั้น เกษตรจนควรศึกษาข้อมูล และตกลงออเดอร์กับบริษัทที่รับซื้อเพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเลี้ยง และจับขาย จะได้ไม่ประสบต่อปัญหาขาดทุน






กำลังโหลดความคิดเห็น