xs
xsm
sm
md
lg

มฟล.ชู 18 หมู่บ้าน-โรงเรียน ต้นแบบแยกขยะ “พระ ว.-ผู้ว่าฯ” ดันวาระเชียงรายปลอดขยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเวทีขับเคลื่อนวาระเชียงรายปลอดขยะ สู่เมืองท่องเที่ยวยั่งยืน ชู 18 หมู่บ้าน/โรงเรียนต้นแบบแยกขยะก่อนล้นเมือง ด้าน “พระ ว.วชิรเมธี-ผู้ว่าฯ” ร่วมปาฐกถา ยกโมเดล “วงษ์พาณิชย์” เป็นบทเรียน ชี้ไทยต้องแก้จิตสำนึก-วินัย

วันนี้ (6 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ได้จัดการประชุมเรื่อง “การขับเคลื่อนวาระเชียงรายปลอดขยะสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ที่ห้องประชุมอาคารเอ็มสแควร์ มหาวิทยาลัยฯ ซึ่ง ดร.พนม วิญญายอง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยได้นำผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ตัวแทนภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.เชียงราย เข้าร่วม

โดยมีพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) จากศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สมดุลโลก สมดุลธรรม สู่ความยั่งยืน” และนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ปาฐกถาในหัวข้อ “วาระเชียงรายปลอดขยะ”

นอกจากนี้ยังมีมอบรางวัลให้แก่หมู่บ้าน และโรงเรียนต้นแบบการคัดแยกขยะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่ ม.4 ม.16 ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมืองเชียงราย, ม.3 ต.ครึ่ง อ.เชียงของ, ม.1 ม.7 ม.12 ม.13 ต.หงาว อ.เทิง, ม.9 ม.10 ม.18 ม.20 และ ม.25 ต.เมืองพาน อ.พาน, ม.1 ม.3 ม.8 ม.9 ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด, ม.8 ต.สันทราย อ.แม่จัน และโรงเรียนสันกอง ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน ซึ่งแต่ละหมู่บ้าน และโรงเรียนที่ได้รับรางวัล มีกิจกรรมในชุมชนที่โดดเด่นคล้ายกัน คือ การจัดสถานที่และอุปกรณ์ให้ประชาชนนำขยะที่ใช้แล้วนำมาทิ้งเพื่อคัดแยก โดยกรณีขยะที่ย่อยสลายได้ มีการจัดทำไม้ไผ่สานหรือเรียกว่าเสวียง รองรับการย่อยสลาย รวมทั้งมีการนำไปทำปุ๋ย น้ำหมัก ส่วนขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือขยะรีไซเคิล มีการนำมาดัดแปลง หรือจำหน่าย จึงเหลือขยะที่ไม่ใช้ประโยชน์จำนวนหนึ่งเท่านั้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ต.เวียง อ.เชียงแสน ซึ่งพบว่า ขยะในชุมชน 65% เป็นขยะย่อยสลายได้, 17% เป็นขยะขายได้ และมีขยะอันตรายแค่ 1% หากคัดแยกแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะทำเป็นปุ๋ย และขายได้ ขณะที่หลายพื้นที่มีการจัดทำร้านค้า ให้ประชาชนนำขยะมาแลกสิ่งของได้ด้วย

ดร.พนมกล่าวว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ ที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว อาจทำให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น และหากไม่มีการลด หรือคัดแยกที่ต้นทาง จะก่อให้เกิดปัญหาได้ มหาวิทยาลัยฯ จึงตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักวิทยาศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ เพื่อร่วมกันจัดการกับขยะ

โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดการอบรม จัดประกวดชุมชนปลอดขยะเฉลิมพระเกียรติ ๘๙ พรรษา 89 ชุมชน ปี 2559 ของกรมส่งเสริมคุณภาพส่งแวดล้อม และคัดเลือกโรงเรียนปลอดขยะตามโครงการประกวดโรงเรียนปลอดขยะเฉลิมพระเกียรติ ๖๑ พรรษา 61 โรงเรียน จนมีการมอบรางวัลในครั้งนี้ดังกล่าว

พระมหาวุฒิชัยกล่าวว่า ขยะมีมากขึ้นเช่นเดียวกับมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เผาป่า ขาดวินัย ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ และต่อสู้ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นได้ โดยมีตัวอย่างนักธุรกิจ “วงษ์พาณิชย์” ที่ไต่เต้าจากการรับซื้อขยะชาวบ้านที่เก็บจากกองขยะไปสู่การขยายกิจการทั่วประเทศ และปัจจุบันเป็นผู้กำหนดราคาเหล็กในอาเซียน รวมทั้งกำลังขยายธุรกิจไปยังสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าการจัดการกับขยะ เป็นงานที่มีเกียรติ และสามารถทำได้

“แต่ไทยก็มีปัญหาที่ต้องแก้กันตั้งแต่แรกเริ่ม คือ เรื่องจิตสำนึก และวินัย โดยมีตัวอย่างไร่เชิญตะวัน ในฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปนับแสนคน และสร้างขยะนับ 10,000 ชิ้น โดยไม่ทิ้งในถังขยะที่เตรียมไว้ให้ ทางวัดจึงได้ไปศึกษาดูงานที่ไต้หวัน และกลับมาดำเนินโครงการขยะทองกลางกองขยะ โดยมีการจัดเก็บขยะกันเป็นรายชั่วโมง คัดแยกขยะไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ นำขยะที่เก็บมาแลกข้าวของที่มีผู้นำไปถวายวัดแล้วเหลือใช้ จนขณะนี้มีคนเดินทางไปศึกษาดูงานที่ไร่เชิญตะวันอย่างต่อเนื่อง” พระมหาวุฒิชัยกล่าว

ด้านผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ระบุว่า ปัจจุบันปริมาณขยะมีมากขึ้น จึงมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นวาระจังหวัด เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่กระทบกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจหลักของเชียงราย โดยหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะผลักดันวาระนี้ไปสู่ชุมชนต่างๆ ให้ทั่วถึงอย่างเต็มที่ โดยมีชุมชนและโรงเรียนที่รับรางวัลในครั้งนี้เป็นต้นแบบ




กำลังโหลดความคิดเห็น