มหาสารคาม - งามอย่างไทย! นักศึกษาชาย-หญิงวิทยาลัยอาชีวะมหาสารคามแต่งผ้าไทยสร้อยดอกหมากทั้งสถาบัน ปลื้มฝีมือและภูมิปัญญาบรรพบุรุษ มั่นใจช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนเพิ่ม
จังหวัดมหาสารคามมีประวัติการทอผ้าใช้กันในหมู่บ้านมีมาตั้งแต่โบราณกาล แต่การทอผ้าด้วยมือตามแบบดั้งเดิมนั้นก็เกือบจะสูญหายไปโดยสิ้นเชิง หากไม่ได้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟู
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยผ้าพื้นเมืองเกือบทุกประเภทอย่างแท้จริง ทรงเป็นผู้นำในการใช้สอยผ้าพื้นเมืองของไทย ในชีวิตประจำวัน และในงานพระราชพิธีต่างๆ ทรงนำผ้าไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ลวดลายที่ชาวบ้านได้สืบทอดกันมาแต่โบราณนั้นก็ได้ทรงเก็บตัวอย่างไว้เพื่ออนุรักษ์ และเพื่อศึกษาสืบทอด
ในขณะเดียวกัน จังหวัดมหาสารคามยังมีกลุ่มแม่บ้านแต่ละตำบลแต่ละอำเภอซึ่งได้ยึดอาชีพทอผ้าพื้นเมือง เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้ข้าราชการได้มีการใส่ชุดพื้นเมืองในทุกวันพุธ และมีการให้อนุรักษ์ใส่ผ้าพื้นเมือง เพื่อช่วยให้กลุ่มแม่บ้านได้มีรายได้เข้าครัวเรือนหรือเข้าชุมชน
การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยนั้นจะคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ชูสโลแกนสวมใส่สบาย ประหยัดพลังงาน กระจายรายได้สู่ชุมชน นับเป็นผลผลิตทางภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น มีหลากหลายลวดลายและรูปแบบตามกระบวนการวิธีที่ถักทอขึ้น แสดงความเป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของชุมชน
ดังนั้น จังหวัดมหาสารคามจึงได้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนชาวไทย แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองอย่างแพร่หลาย โดยขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐให้เชิญชวนข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานแต่งกายด้วยผ้าไทยในวันปฏิบัติราชการในวัน ใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เพื่อแสดงออกถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้แก่กลุ่มชาวบ้าน
วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคามเองได้รณรงค์ให้นักศึกษาแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองทุกวันศุกร์ กระทั่งปัจจุบันที่จังหวัดมหาสารคาม ส่งเสริมให้สวมใส่ผ้าลายสร้อยดอกหมากซึ่งเป็นผ้าลายเอกลักษณ์ของจังหวัดมานานกว่า 20 ปี จึงมีการออกแบบมาให้นักศึกษาสวมใส่เป็นรูปแบบเดียวกัน สร้างสีสันความสวยงาม ทำให้เห็นคุณค่าของผ้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมานาน ซึ่งมีนักศึกษา ปวช.1-3 และปวช.1-2 มีนักศึกษารวมกว่า 2,000 คน ทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาได้มีมีนโยบายในการอนุรักษ์และสืบสานความเป็นไทย ด้วยการส่งเสริมให้นักศึกษา ครูอาจารย์และบุคลากรแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองมากว่า 20 ปีแล้ว โดยให้สวมใส่มาเรียนทุกวันศุกร์
กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามคนปัจจุบันคือนายโชคชัย เดชอมรธัญ ได้มีนโยบายให้ทุกภาคส่วนสวมใส่ผ้าลายสร้อยดอกหมาก ผ้ามัดหมี่ลายโบราณและเป็นผ้าลายเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม โดยผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก มีต้นกำเนิดแหล่งผลิตอยู่ที่อำเภอกุดรัง
นายสุคณธ์ นาเมืองรักษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม เปิดเผยว่า ทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาได้มีการรณรงค์ให้นักศึกษานุ่งกระโปรงผ้าไทยพื้นเมือง ผ้าลายสร้อยดอกหมากที่นำมาตัดเย็บนี้ สั่งจากกลุ่มหัตถกรรมทอผ้าบ้านหนองเขื่อนช้าง มีทั้งแบบผ้าทอและผ้าพิมพ์ลาย โดยเน้นสีดั้งเดิมคือสีน้ำตาล ออกแบบให้เป็นผ้าซิ่นหรือกระโปรงยาวคลุมเข่า สำหรับนักศึกษาหญิง
ส่วนนักศึกษาชายจะออกแบบโดยตัดเป็นเสื้อสีน้ำเงิน และนำผ้าลายสร้อยดอกหมากมาตกแต่งลวดลาย เป็นการสร้างสีสัน สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ลูกหลาน อีกทั้งยังได้สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกต่อหนึ่งด้วย
ด้าน น.ส.จุฑาทิพย์ คลังพระศรี นักศึกษาวิทยาลัยแผนกการบัญชีอาชีวศึกษามหาสารคาม ปวช.เปิดเผยว่า หลังจากที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาได้มีการรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทยลายสร้อยดอกหมากนั้น ตนเองรู้สึกภูมิใจที่ได้ใส่ผ้าไทยลายสร้อยดอกหมากซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวมหาสารคามที่บรรพบุรุษได้ทอขึ้นมาด้วยความประณีต เป็นภูมิปัญญาชองชาวบ้านที่มีมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย
ไม่เคยคิดว่าการใส่ผ้าไหมแล้วทำให้ดูแก่ กลับภูมิใจที่ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาวมหาสารคาม และอยากจะเชิญชวนทุกคนร่วมกันใส่ชุดพื้นเมืองเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย