สุรินทร์- คนชายแดน อ.พนมดงรัก เมืองช้างฮือขับไล่ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวหาไม่โปร่งใส สร้างความแตกแยกในชุมชน ไม่เคยฟังเสียงข้างมาก หลังยื่นรายชื่อถอดถอนกับทางอำเภอแต่เรื่องกลับเงียบ ด้านปลัดจังหวัดฯ รุดพบปะชาวบ้าน พร้อมรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น ย้ำให้ทางอำเภอดำเนินการจัดลงประชามติถอดถอนออกจากตำแหน่งตามระเบียบขั้นตอน
วานนี้ (31 พ.ค.) ที่ศาลาวัดอรุโณทยาราม บ้านท่าสว่าง หมู่ 2 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ชาวบ้านท่าสว่างกว่า 100 คน นำโดย นายทองคูณ พรหมจิตร อายุ 67 ปี ชาวบ้านท่าสว่าง ได้พากันรวมตัวภายในศาลาวัดพร้อมยกป้ายข้อความไม่เอาผู้ใหญ่บ้าน ต่อ นายเวียงชัย แก้วพินิจ ปลัดจังหวัดสุรินทร์ พร้อม จ่าเอก จำนง สมรูป ปลัดอาวุโสอำเภอพนมดงรัก, ร้อยโท ชัยณรงค์ อย่าเสียสัตย์ สัสดีอำเภอพนมดงรัก พร้อมพัฒนาการอำเภอ, ปลัดอำเภอพนมดงรัก และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสลักได
โดยตัวแทนชาวบ้านได้ระบุว่า การรวมตัวของชาวบ้านในครั้งนี้เพื่อที่จะรับทราบถึงการดำเนินการถอดถอน นางบุปผชาติ ตราชู ผู้ใหญ่บ้านท่าสว่าง ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการลงรายชื่อเพื่อถอดถอนยื่นต่อทางอำเภอมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน แต่เรื่องกลับเงียบหายไป โดยระบุว่าการบริหารงานของผู้ใหญ่บ้านไม่โปร่งใส สร้างความแตกแยกภายในชุมชน และความไม่โปร่งใสในการบริหารโครงการต่างๆ ของหมู่บ้าน
ทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสในการรับทราบข้อมูลข่าวสารทางราชการ เนื่องจากชาวบ้านกับผู้ใหญ่บ้านเกิดความไม่ไว้วางใจกัน เมื่อมีการเรียกประชุมหรือประชาคมชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ร่วมประชุมแต่มีมติผ่านตลอด ทำให้ชาวบ้านท่าสว่างเสียโอกาสในการเสนอแผนงาน โครงการต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้านทำตัวไม่เหมาะสม ไม่เคยรับฟังเสียงข้างมาก ทำให้ชาวบ้านหมดศรัทธา และการบริหารกองทุนต่างๆ ก็ไม่โปร่งใส
ทั้งนี้ ทางตัวแทนชาวบ้านได้ลุกขึ้นชี้แจงถึงปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อคณะปลัดจังหวัดให้ได้รับทราบ และยังคงยืนยันที่จะให้ทางอำเภอหรือจังหวัดดำเนินการถอดถอน นางบุปผชาติ ตราชู ผู้ใหญ่บ้านท่าสว่าง ออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านต่อไป และจะไม่ขอรับเงินในโครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาทจากรัฐบาลหากผู้ใหญ่บ้านยังอยู่ในตำแหน่ง แม้จะสิ้นโครงการในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ก็ตาม
ในขณะที่ปลัดจังหวัดสุรินทร์ได้พยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยให้แยกเรื่องของกองทุนออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องของการยื่นถอดถอนของชาวบ้านเป็นสิทธิของชาวบ้านที่สามารถทำได้ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอน โดยอำเภอจะติดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้านทั้งหมด แล้วให้ชาวบ้านผู้มีสิทธิมาตรวจสอบรายชื่อและคัดค้านรายชื่อที่แปลกปลอมเข้ามา จากนั้นให้ชาวบ้านที่มีสิทธิมายื่นเอกสารแสดงตนต่อทางอำเภอตามวันเวลาที่กำหนด
จากนั้นจะดำเนินการลงประชามติ ซึ่งจะต้องมีเสียงข้างมากจากจำนวนผู้มีสิทธิจึงจะสามารถส่งเรื่องให้ทางนายอำเภอถอดถอนได้ หากชาวบ้านต้องการที่จะถอดถอนต้องทำตามระเบียบขั้นตอนต่อไป หลังจากชาวบ้านได้มารับฟังและเข้าใจในขั้นตอนกระบวนการในการถอดถอนแล้วได้แยกย้ายกันกลับ
นายทองคูณ พรหมจิตร อายุ 67 ปี แกนนำชาวบ้าน บอกว่า หลังจากฟังการชี้แจงจากทางจังหวัดพอใจในระดับหนึ่ง แต่ในฐานะแกนนำต้องฟังเสียงส่วนมาก ซึ่งชาวบ้านเองต้องการให้ถอดถอนผู้ใหญ่บ้านคนนี้ออกไป ชาวบ้านเสียใจที่ผ่านมากว่า 1 ปีชาวบ้านยื่นเรื่องไปแล้วทางอำเภอไม่มีการดำเนินการ จนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 จึงมีการมารับฟังชาวบ้าน มาถึงตอนนี้ชาวบ้านยังต้องการให้ผู้ใหญ่บ้านออกจากตำแหน่งไป
ด้าน นายเวียงชัย แก้วพินิจ ปลัดจังหวัดสุรินทร์ บอกว่า วันนี้เพียงมาทำความเข้าใจชี้แจงกับชาวบ้านถึงกรณีที่ชาวบ้านได้ยื่นถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งให้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน การร้องเรียนและยื่นถอดถอนเป็นสิทธิของชาวบ้านที่กระทำได้ โดยขั้นตอนทางอำเภอจะติดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ จากนั้นให้ชาวบ้านยื่นคัดค้านรายชื่อแปลกปลอม และมาแสดงตัวตนต่อทางอำเภอ โดยให้เวลา 1 เดือน จากนั้นจะดำเนินการลงประชามติต่อไป ซึ่งมีระเบียบขั้นตอนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน พบว่าบ้านปิด ไม่มีใครอยู่จึงไม่สามารถติดต่อสอบถามได้