ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว นำกำลัง จนท.พร้อมกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าตรวจสอบผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายตัวแทนอำพรางหรือนอมินีให้ชาวต่างชาติ และหลอกลวงขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศเสียหายและสูญรายได้เข้ารัฐ ระบุตรวจละเอียดการจดทะเบียนธุรกิจการค้าและประวัติการเสียภาษี หากพบผิดพร้อมลงโทษเด็ดขาด
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้ (27 พ.ค.) พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว นำกำลัง พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าตรวจสอบเป้าหมายธุรกิจท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายตัวแทนอำพราง หรือนอมินี และหลอกลวงขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพให้แก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เบื้องต้นจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท อี-เอาส์ฟิตติ้ง รีสอร์ท จำกัด ย่านถนนช้างคลานในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ประกอบกิจการรีสอร์ตให้นักท่องเที่ยวจีนเข้าพักโดยเชื่อว่าเจ้าของแท้จริงเป็นชาวต่างชาติ
2. บริษัท เจมส์แกลอรี่ เชียงใหม่ จำกัด ย่านสันกำแพง ประกอบธุรกิจเครื่องประดับเพชร ที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้าใช้บริการจำนวนมาก โดยอาจมีการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานหรือราคาสูงกว่าปกติ 3. บริษัท รอยัลดิวตี้ ช้อป 999 จำกัด ย่านสันกำแพง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารา ที่เชื่อว่าด้อยคุณภาพให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน
4. บริษัท ลานนา ลาเท็ก จำกัด ย่านหนองป่าครั่ง จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่เชื่อว่าด้อยคุณภาพให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน 5. บริษัท ไท สยาม จำกัด ย่านหนองป่าครั่ง เปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากหนังจระเข้ให้กับนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน โดยสินค้าที่จำหน่ายเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ และ 6. บริษัท ไทยปาร์ค สเน็คฟาร์ม จำกัด ย่านถนนวงแหวนรอบกลาง ตำบลสันผีเสิ้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เปิดจำหน่ายสินค้าผลผิตภัณฑ์ยาที่มีการโฆษณาว่าเป็นยาสกัดจากส่วนต่างๆ ของงูให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ปรากฏว่าไม่มีสรรพคุณตามที่โฆษณา
ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยวเปิดเผยว่า การเข้าตรวจสอบผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เบื้องต้นมีเป้าหมาย 7-8 จุด โดยเป็นผลมาจากรายงานการสืบสวนเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายตัวแทนอำพรางหรือนอมินี และหลอกลวงขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพให้แก่นักท่องเที่ยว จึงนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าทำการตรวจสอบผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเป้าหมายทั้งการจดทะเบียนธุรกิจการค้า, ประวัติการเสียภาษี และการประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นตัวแทนอำพรางหรือนอมินีให้กับชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ รวมทั้งตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย
ทั้งนี้ การตรวจสอบในครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยหากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายในประเด็นใดก็จะดำเนินตามกฎหมายทันที