xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนสิรินธรย้ำมีน้ำสำรองหากฝนไม่มาตามนัด พร้อมรับน้ำฝนใหม่ใช้แล้งปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร อุบลราชธานี ย้ำมีน้ำในอ่างร้อยละกว่า 47 หากฝนไม่มาตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ยังมีน้ำใช้หล่อเลี้ยงระบบนิเวศวิทยาลุ่มน้ำมูลไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน แต่ถ้าฝนมาอ่างเขื่อนสิรินธรรองรับน้ำได้อีก 1 พันล้าน ลบ.ม.

นายพงศกร เรืองมนตรี หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์ระดับน้ำเขื่อนสิรินธรขณะนี้มีระดับน้ำเก็บกักไว้กว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่าง ซึ่งเป็นระดับน้ำที่พอเหมาะไว้รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาใหม่ในฤดูฝนปีนี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

แต่ถึงแม้หากฝนมาล่าช้ากว่ากำหนด เขื่อนสิรินธรก็มีน้ำใช้การได้กว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงระบบนิเวศวิทยาของลุ่มน้ำ และพอต่อการคงระดับน้ำใช้ผลิตน้ำประปาให้กับตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เนื่องจากการสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังและการเพาะปลูกพืชไร่ฤดูแล้ง เกษตรกรได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปทั้งหมดแล้ว
นายพงศกร เรืองมนตรี หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จ.อุบลราชธานี
ส่วนที่มีการคาดการณ์ปีนี้อาจเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีปริมาณฝนตกลงมามากกว่าปกติ เขื่อนสิรินธรที่ตั้งอยู่ปลายของแม่น้ำมูลสามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าและไหลออกจากเขื่อนได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาแม้เขื่อนอื่นๆ ในประเทศไทยมีน้ำเหลือน้อยหรือต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้ แต่เขื่อนสิรินธรมีระดับการกักเก็บที่เพียงพอสามารถจ่ายน้ำให้เกษตรกรพื้นที่รอบอ่างเพาะปลูกได้ตามแผนกว่า 1.2 แสนไร่ได้ตามปกติ เพราะเป็นเขื่อนที่อยู่ปลายแม่น้ำมูล จึงสามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าเขื่อนที่อยู่ต้นน้ำขึ้นไป

“แม้ฝนจะมาช้า แต่เขื่อนสิรินธรยังมีน้ำเก็บกักไว้ใช้เพียงพอแก่การใช้อุปโภคบริโภค จนกว่าฝนใหม่จะตกลงมา และหากมีน้ำฝนมากอ่างเก็บน้ำยังสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนได้ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2560 ได้อย่างสบาย” หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรนธรกล่าวให้ความมั่นใจในการบริหารจัดการน้ำใช้ไปถึงฤดูแล้งปีหน้า

กำลังโหลดความคิดเห็น