รองนายกฯ ตรวจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนว “ประชารัฐ” อนุรักษ์ป่าจำปีสิรินธร และแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่ในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค เขตตรวจราชการที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวนโยบาย “ประชารัฐ” เพื่ออนุรักษ์ป่าจำปีสิรินธร และแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 6 ตำบล ของ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี พร้อมเป็นประธานเปิดป้ายการใช้งานบ่อบาดาลที่ใช้พลังงานจากโซลาร์ เซลล์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารกลุ่มวังขนาย สมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรี และประชาชนใน อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ให้การต้อนรับ
นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ในฐานะประธานโครงการฯ ได้กล่าวว่า อำเภอท่าหลวง มีพื้นที่ 236,011 ไร่ เป็นพื้นที่ทางการเกษตร 225,072 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกอ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง นอกจากนี้ อ.ท่าหลวง ยังเป็นที่ตั้งของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่พื้นที่ทางการเกษตรจะอยู่บริเวณเหนือเขื่อน จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในการประกอบอาชีพได้
ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีแนวคิดที่จะนำน้ำในเขื่อนป่าสักฯ มาเก็บไว้บริเวณอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง ในพื้นที่อำเภอท่าหลวง (อ่างเก็บน้ำสะพานสี่ ทะเลวังวัด ห้วยน้ำโจน เนินสวอง ทุ่งเป้ง และห้วยซับใต้) เพื่อสำรองไว้ใช้ในกรณีเกิดภาวะแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง
นอกจากนี้ ในเขตตำบลซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ยังเป็นที่ตั้งของป่าจำปีสิรินธร ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นพรรณไม้พื้นเมืองในวงศ์จำปา ถูกค้นพบเป็นพรรณไม้พันธุ์ใหม่ของโลก และเมื่อเดือนสิงหาคม 2543 และได้รับพระราชทานพระนามาภิไธยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นชื่อพรรณไม้ดังกล่าวว่า “จำปีสิรินธร”
จากปัญหาภัยแล้งดังกล่าว ส่งผลต่อความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่า ทำให้ต้นจำปีสิรินธร ขาดน้ำในการหล่อเลี้ยงลำต้น ผืนป่าขาดความชุ่มชื้น ซึ่งการจัดทำโครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในการรักษาป่าจำปีสิรินธรด้วย
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ทางจังหวัดจึงได้ประสานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 สระบุรี ดำเนินการเจาะบ่อบาดาล จำนวน 3 บ่อ คือ 1) การขุดเจาะบ่อที่ 1 ระดับความลึก 104 ม. ปริมาณน้ำ 30 ลบ.ม./ชม. 2) การขุดเจาะบ่อที่ 2 ระดับความลึก 72 ม. ปริมาณน้ำ 25 ลบ.ม./ชม. และ 3) การขุดเจาะบ่อที่ 3 ระดับความลึก 62 ม. ปริมาณน้ำ 4 ลบ.ม./ชม.
การเจาะบ่อบาดาลดังกล่าวฯ ทำขึ้นเพื่อสูบน้ำมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ป่า และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ต้นจำปีสิรินธร ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งหากคำนวณปริมาณน้ำที่ป่าจำปีสิรินธรต้องมีน้ำขังเพื่อรักษาระบบนิเวศป่าพรุน้ำจืดเอาไว้ ที่ระดับความลึก 50 เซนติเมตร (เนื้อที่ 141 ไร่) จะต้องมีท่วมขังประมาณ 112,800 ลูกบาศก์เมตร หากมีโครงการสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักมาเก็บไว้ที่อ่างซับใต้ ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโครงการ และมีระบบชลประทานมาสนับสนุน จะทำให้บรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่ป่าจำปีสิรินธรลงได้
นางจิตต์สุภา สุขเจตนี ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กรและกิจกรรมสังคม กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า กลุ่มวังขนายได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ซึ่งเป็นการร่วมกันพัฒนาตามแนวนโยบาย “ประชารัฐ” เพราะเป็นสิ่งที่เปิดโอกาสให้แก่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ
สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หรือการพัฒนาแหล่งน้ำนั้น กลุ่มวังขนาย ได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคที่ดินให้แก่เทศบาลหนองมะโมง จ.ชัยนาท จำนวน 516 ไร่ เพื่อขุดสระเก็บน้ำ และวางแนวทางกระจายน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบ สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวนโยบาย “ประชารัฐ” เพื่ออนุรักษ์ป่าจำปีสิรินธร และแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 6 ตำบล ของ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี นั้น ทางกลุ่มวังขนาย ได้เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงาน และสนับสนุนในด้านค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไปแก้ไขปัญหาวิกฤตให้แก่ป่าจำปีสิรินธร ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำในการทำการเกษตรด้วย