xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานเชียงใหม่วอนเกษตรกรชะลอเพาะปลูกรอเข้าฤดูฝน แต่ยันน้ำดื่มใช้ยังมีเพียงพอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชลประทานเชียงใหม่ยอมรับภัยแล้งยังรุนแรงส่งผลปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บต่างๆ เหลือน้อยและมีจำกัด แต่ยืนยันมีเพียงพอบริหารจัดการเพื่อการอุปโภคบริโภคเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ได้ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 59 เป็นอย่างน้อยแน่นอน พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอการเริ่มเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำนาฤดูกาลใหม่ออกไปก่อนจนกว่าจะเข้าฤดูฝนเต็มตัว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์ปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำของ 2 เขื่อนใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ว่า ข้อมูลล่าสุดเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 27.44 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 10.36 ของความจุอ่าง 265 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นน้ำที่ใช้การได้ 17.44 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราปริมาณน้ำทั้งสิ้น 23.71 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 9.01 ของความจุอ่าง 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีส่วนของน้ำที่ใช้การได้ 9.71 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลที่ตามแผนการบริหารจัดการจะมีการส่งลงสู่แม่น้ำปิงเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศสัปดาห์ละ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น ขณะนี้ยังคงยืนยันว่าด้วยปริมาณน้ำที่เหลืออยู่มีเพียงพอบริหารจัดการ โดยเฉพาะเพื่อการผลิตน้ำประปาของเมืองเชียงใหม่ได้จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 59 เป็นอย่างน้อยตามแผนแน่นอน ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการพิจารณาสถานการณ์และความจำเป็นต่างๆ เพื่อบริหารจัดการตามความเหมาะสมต่อไป

ในส่วนการเตรียมทำการเพาะปลูกของเกษตรกร โดยเฉพาะการทำนานั้น ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำทั่วทั้งจังหวัดเชียงใหม่ที่เหลืออยู่อย่างจำกัด โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ทั้งเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีน้ำกักเก็บรวมกันเพียง 10%, อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12 แห่ง มีน้ำกักเก็บรวมกัน 16% และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 115 แห่ง มีน้ำกักเก็บรวมกัน 18% จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ชะลอการเริ่มทำการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ออกไปก่อน อย่างน้อยจนกว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะมีการประกาศว่าเริ่มย่างเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่พื้นที่เพาะปลูกจะได้รับความเสียหาย เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดในเวลานี้จำเป็นต้องกักเก็บไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคก่อนเป็นลำดับแรก


กำลังโหลดความคิดเห็น