xs
xsm
sm
md
lg

ที่นี่ไม่แล้ง! รัฐหนุนชาวบ้าน-พระแม่สอดสร้างฝายมีชีวิต มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตาก - พบหมู่บ้านปลอดแล้งยั่งยืนในแม่สอด หลังส่วนราชการร่วมกับชาวบ้าน-พระสงฆ์ร่วมสร้างฝายมีชีวิต กักน้ำจากตาน้ำกลางป่าหล่อเลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน แถมทำให้ผืนป่ากลับมาเขียวชะอุ่มได้เหมือนเดิม พร้อมเปิดเป็นโรงเรียนสอนคนสู้แล้ง

วันนี้ (29 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่จังหวัดตากประสบภัยแล้งรุนแรงรวม 6 อำเภอ และที่ อ.พบพระ นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอพบพระ จ.ตาก พร้อมเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรนับหมื่นไร่ ทำให้พืชผลแห้งเหี่ยวใกล้ตายจำนวนมากนั้น

แต่ที่บ้านห้วยหินฝน หมู่ 6 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก กลับมีน้ำอุปโภคบริโภคอุดมสมบูรณ์ทั้งหมู่บ้าน หลังนายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอด พร้อมพระอาจารย์มหานวปฏล กุสลญาโณ เจ้าอาวาสวัดโพธิคุณ และชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินฝน ได้ร่วมกันใช้วัสดุจากธรรมชาติสร้างฝายมีชีวิตที่บริเวณตาน้ำผุดกลางวัด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้ำที่ไหลลงสู่ลำห้วยผ่านกลางหมู่บ้านห้วยหินฝนเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ถึง 4 ฝายขนาดใหญ่ จนมีแหล่งน้ำกักเก็บไว้ได้ถึง 4 จุด

พร้อมกันนั้น นายอำเภอแม่สอด และชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น และส่วนราชการในพื้นที่อำเภอแม่สอดยังได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นโรงเรียนฝายมีชีวิต เพื่อทำการเผยแพร่มวลวิชาความรู้ให้แก่องศ์กรต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ต่อยอดการสร้างฝายมีชีวิตเพื่อพิชิตภัยแล้งแบบยั่งยืนทั่วจังหวัดตาก ซึ่งก็ได้รับความสนใจมีผู้เข้ามาร่วมศึกษาความรู้เพื่อนำไปสร้างฝายอีกหลายพื้นที่ ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างแสนสาหัส

ทั้งนี้ “บ้านห้วยหินฝน” มีเนื้อที่ป่าต้นน้ำรวมกว่า 2 พันไร่ เป็นหมู่บ้านที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา และเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดน้ำที่ไหลไปหล่อเลี้ยงประชาชนในหลายท้องที่เขตอำเภอแม่สอด

ในอดีตพื้นที่แห่งนี้ ก็ประสบปัญหาภัยแล้งเกือบทุกปี ป่าไม้ถูกทำลายจนพื้นที่สีเขียวหายไปจนน่าตกใจ แต่ปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากทางราชการรวมถึงพระสงฆ์และชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างฝายมีชีวิตจากภูมิปัญญาจากท้องถิ่น จนปีนี้หมู่บ้านแห่งนี้ได้ปลอดจากปัญหาภัยแล้งแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง










กำลังโหลดความคิดเห็น