xs
xsm
sm
md
lg

ปศุสัตว์ชัยนาทเร่งแจกสัตว์ปีกกว่า 7 หมื่นตัว ให้เกษตรกรเลี้ยงสู้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - ปศุสัตว์ชัยนาท เร่งแจกสัตว์ปีก ไก่ และเป็ดกว่า 7 หมื่นตัว พร้อมอาหารสำเร็จรูปให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งนำไปเลี้ยง ตามมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาล



เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ (26 เม.ย.) ที่วัดพระแก้ว ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานมอบปัจจัยการผลิตโครงการสร้างรายได้จากปศุสัตว์ในฤดูแล้งตามมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559

โดยได้มอบไก่ไข่สาว อายุ 14-16 สัปดาห์ จำนวน 20,550 ตัว และเป็ดไข่ เพศเมีย อายุ 14-16 สัปดาห์ จำนวน 420 ตัว อาหารสัตว์สำเร็จรูป 65,910 กิโลกรัม และวัสดุปรับปรุงโรงเรือน ได้แก่ ตาข่ายไนลอน กระติกน้ำไก่ ถังอาหารไก่ ให้แก่เกษตรกรอำเภอสรรคบุรี รวมจำนวน 1,295 ราย เพื่อนำไปเลี้ยงสำหรับบริโภค และจำหน่ายสร้างรายได้เสริมแก่ครัวเรือน หลังได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพาะปลูกเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง

โดยโครงการสร้างรายได้ปศุสัตว์ในฤดูแล้ง เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยจังหวัดชัยนาท มีเกษตรกรลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 7,117 ราย แบ่งตามชนิดสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่พื้นเมือง, ไก่พื้นเมืองลูกผสม,ไก่ไข่, เป็ดเทศ และเป็ดไข่ รวม จำนวน 73,860 ตัว โดยเกษตรกรจะได้รับปัจจัยการผลิตเป็นพันธุ์สัตว์รายละ 10-20 ตัว ตามชนิดสัตว์ อาหารสัตว์ 30 กิโลกรัม และวัสดุปรับปรุงโรงเรือน ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาทจะได้ทยอยแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรในแต่ละอำเภอ คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายให้ได้ครบทุกราย ภายในวันที่ 29 เมษายนนี้

นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีความรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นทุกปี ทำให้การทำนาไม่สามารถที่จะทำได้อย่างต่อเนื่องเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น เกษตรกรต้องมีการปรับเปลี่ยนอาชีพการทำนาที่เป็นรายได้หลัก หาอาชีพเสริมเพื่อให้เกิดรายได้มาทดแทน การเลี้ยงสัตว์ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จะมาทดแทนการทำนาได้ และยังสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาด้านอาหาร และความต้องการของตลาดให้เป็นทางเลือกอาชีพสำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้




กำลังโหลดความคิดเห็น