พิจิตร - รองผู้ว่าฯ เมืองชาละวันตามตรวจสอบข้อเท็จจริงคนฮุบที่ดินเคยถวายวัดเบญจคาลัย-ทับคล้อ ออกโฉนดใหม่กินที่สาธารณะ จนชาวบ้านชาวช่องต้องขับรถผ่ากลางวัด ครูบาดังบอกขอแค่ที่หลวงคืนทำถนนให้ชาวบ้านพอ
นายบุญเวทย์ ศรีพวงใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ลงพื้นที่วัดศรีเบญจคาลัย (วัดบางเบน) ต.ท้ายทุ่ง อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ช่วงวันหยุดส่งท้ายสงกรานต์วานนี้ (17 เม.ย.) หลังจากที่ครูบามงคลได้เข้าร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมศาลากลางจังหวัดพิจิตร ว่า ที่ดินของวัดที่มีผู้บริจาคให้วัดใช้ประโยชน์โดยวาจา และวัดเคยนำปัจจัยไปขุดสระไว้เมื่อปี 53 เป็นเงิน 43,000 บาท จู่ๆ ก็มีคนมาออกโฉนดทับที่ดินแปลงดังกล่าว รวมทั้งที่หลวงอีก 48 ตร.ว. และเรียกร้องขอเงินถ้าวัดต้องการที่ดินคืน
ครูบามงคลระบุว่า เจ้าของที่ดินเดิม รวมทั้งลูกๆ ได้ยกที่ดินแปลงนี้ถวายวัด แต่ต่อมากลับมีการออกโฉนดใหม่ ซึ่งกินพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติมอีกจนชาวบ้านไม่สามารถเดินทางผ่านได้ต้องขับรถผ่ากลางวัด ทำให้พระสงฆ์ในวัดปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้ลำบาก จึงขอให้ทางราชการเข้ามาช่วยตรวจสอบถึงการออกโฉนดดังกล่าว
โดยทางวัดฯ จะไม่ขอรับที่ดินที่เคยถวายให้วัดแล้ว แต่จะขอให้นำที่สาธารณะจำนวน 48 ตร.ว.คืนให้หลวง เพื่อทำถนนอ้อมหลังวัดให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรผ่านไป-มา โดยไม่ต้องขับรถผ่ากลางวัดอีกต่อไปเท่านั้น
เบื้องต้นหลังนายบุญเวทย์ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ด้วยตนเองแล้ว จะได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
นอกจากนี้ ในพื้นที่ตำบลท้ายทุ่งยังมีประชาชนทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดพิจิตร ว่า ผู้รับเหมา และผู้ควบคุมงานโครงการก่อสร้างขุดลอกอ่างเก็บน้ำ หรือคลองวังม้า ในพื้นที่ของ อบต.ท้ายทุ่ง นำดินที่ขุดขึ้นมาจากที่สาธารณะแล้วนำไปทิ้งหรือนำไปถมไปขายให้บุคคลทั่วไป ทั้งๆ ที่มีที่สาธารณะในชุมชนแต่กลับไม่ยอมนำดินไปถมให้ ซึ่งดูแล้วอาจจะผิดระเบียบหรือผิดในข้อตกลงสัญญาว่าจ้าง
นายบุญเวทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ทำได้แค่เพียงเก็บภาพหลักฐานและจะได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เอาสัญญาว่าจ้างมาดูข้อเท็จจริงเพื่อสั่งการต่อไป ซึ่งหากมีการทุจริตหรือผิดสัญญาเงื่อนไขก็จะให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ (สตง.) รวมถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ (ป.ป.ท.) มาตรวจสอบดำเนินการต่อไป
นายบุญเวทย์กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอฝากเตือนผู้รับจ้างนายช่างผู้ตรวจงานหรือชาวบ้านที่ถูกแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการในการตรวจรับงาน ต้องยึดความถูกต้องและความสุจริตเป็นที่ตั้ง มิเช่นนั้นหากตรวจสอบพบการทุจริตทุกคนก็จะต้องติดร่างแห หรือต้องร่วมรับผิดชอบ ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่ยืนยันว่ามีผู้ใดกระทำความผิด คงต้องรอหลังสงกรานต์แล้วจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง