กาฬสินธุ์ - ระดมเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจเข้มวัดแอลกอฮอล์บนถนนสายหลัก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุคนขับหลับในขากลับเที่ยวสงกรานต์ หลังยอดผู้เสียชีวิตของกาฬสินธุ์ทะลุเป้า 5 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ยังคงเป็นเมาแล้วขับ และขับรถประมาท
วันนี้ (16 เม.ย.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2559 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ พล.ต.ต.อภิชิต เทียนเพิ่มพูล ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นายวีระศักดิ์ วิเชียรแสน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุม และติดตามผลการดำเนินงานการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายนที่ผ่านมา หรือช่วง 7 วันอันตราย
ทั้งนี้ ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดตรวจ และจุดบริการครอบคลุม 18 อำเภอ ทั้งถนนสายหลัก และถนนสายรองตามหมู่บ้าน และชุมชนเฉลี่ยวันละกว่า 400 จุด มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมดตลอด 5 วัน 27 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 25 ราย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ คือ เมาสุราแล้วขับรถ และขับรถเร็ว
ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามมาตรการเมาให้ยึดรถ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 46/2558 ได้ยึดรถรวมทั้งหมด 139 คัน เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล 28 คัน และรถจักรยานยนต์ 111 คัน ดำเนินคดีผู้เมาสุราแล้วขับรถ จำนวน 139 ราย
นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วง 7 วันอันตราย โดยเฉพาะในช่วง 2 วันสุดท้าย ประชาชนจะทยอยเดินทางกลับจากเที่ยวเพื่อมุ่งไปทำงานตามปกติ ดังนั้น ทางคณะกรรมการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงได้วางแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนสายหลักในช่วงขากลับอย่างเข้มงวด
โดยระดมเจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจุดบริการ เน้นถนนสายหลักเป็นช่วงๆ ตลอดระยะทาง เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ชะลอความเร็ว มีความตื่นตัว ป้องกันการหลับใน เนื่องจากเหนื่อยล้ามาหลายวัน ซึ่งการหลับในเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตรุนแรงกว่าสาเหตุอื่น
นอกจากนี้ ยังกำชับให้เจ้าหน้าที่แต่ละด่าน และจุดตรวจคุมเข้มเมาแล้วขับ ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งหากพบคนขับมีอาการเหนื่อยล้า ง่วง และสภาพร่างกายไม่ไหวก็จะขอความร่วมมือให้จอดรถพักผ่อนจนกว่าร่างกายจะพร้อมขับ 100% เพื่อป้องกัน และลดการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะเกิดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินได้