ระยอง - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางแผนยุทธศาสตร์ดูแลพื้นที่คุ้มครองกลุ่มป่าตะวันออกทั้งหมดอย่างยั่งยืน โดยให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
วันนี้ (24 มี.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมคลาสสิค คามิโอ อำเภอเมืองระยอง นายสมศักดิ์ แสนหิรัณย์ ปลัดจังหวัดระยอง เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองกลุ่มป่าตะวันออก ครั้งที่ 2 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมี นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ตรวจราชการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนคณะกรรมการจาก 6 จังหวัดภาคตะวันออก เข้าร่วมประชุม
การประชุมครั้งนี้เพื่อทบทวน การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ระดมความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโครงการนำร่องของแต่ละพื้นที่คุ้มครองเพื่อจัดการพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออกทั้งหมดอย่างยั่งยืน พร้อมกำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนของคณะกรรมการในการสนับสนุนการจัดการพื้นที่ในกลุ่มป่าตะวันออก ให้สอดคล้องต่อโครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบการจัดการพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทย โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สำนักงานโครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบการจัดการพื้นที่คุ้มครอง
ด้าน นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ตรวจราชการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออกประสบต่อภัยคุกคามต่างๆ เช่น การเผชิญหน้ากันของคนและสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างป่า และเกษตรกร การบุกรุกยึดถือครองที่ดิน การลักลอบตัดไม้ การลักลอบล่าสัตว์ป่า และการเก็บหาของป่า อันนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ส่งผลให้ผืนป่าตะวันออกเข้าสู่ภาวะวิกฤตในเวลาอันใกล้
โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้วจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทั้ง 6 จังหวัด มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในด้านการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน กรมอุทยาน ฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองกลุ่มป่าตะวันออก เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และข้อเสนอแนะด้านการวางแผน การดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการ และการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ อันจะนำไปสู่การสนับสนุนการดำเนินงานของพื้นที่คุ้มครองกลุ่มป่าตะวันออกได้ในอนาคต
นายทรงธรรม กล่าวต่อไปว่า ทางโครงการ CATSPA มีกิจกรรมนำร่องใน 3 เรื่อง คือ การจัดการพื้นที่คุ้มครองเชิงระบบนิเวศ แนวทางการจัดทำแนวเชื่อมต่อนิเวศสัตว์ป่า ที่มีกลไกแทนคุณระบบนิเวศ เป็นมาตรการเสริม และการจัดทำระบบพื้นที่คุ้มครองแห่งชาติ โดยจะมีการร่วมวางแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองกลุ่มป่าตะวันออก เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการทำงานบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก พื้นที่ป่าที่ราบต่ำผืนสุดท้าย ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของภาคตะวันออก ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้ยั่งยืนต่อไป