ชัยนาท - ผู้ว่าฯ ชัยนาท แจงไม่ได้เป็นคำสั่งของอดีตผู้ว่าฯ ชัยนาท ที่มีคำสั่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำรถบรรทุกน้ำไปรดต้นไม้ที่ปลูกไว้บริเวณเขาขยาย แต่เป็นการทำความตกลงกันไว้ในช่วงที่ทำโครงการฟื้นฟูเขาขยายฯ เผยที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกับ อปท.ดูแลแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก่อนเป็นอันดับแรก
วันนี้ (23 มี.ค.) จากกรณีที่มีข่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ใน จ.ชัยนาท ที่มีรถบรรทุกน้ำได้รับคำสั่งจากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ให้สับเปลี่ยนหมุนเวียนนำรถบรรทุกน้ำเข้าไปรดต้นไม้บริเวณเขาขยาย ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท ซึ่งทางจังหวัดได้ปรับปรุงพื้นที่ปลูกเป็นสวนป่าในโครงการฟื้นฟูเขาขยาย เขาทะเลทราย สู่เขาสวรรค์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้ต้องตายจากสภาพความแห้งแล้ง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างต้องคอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนนำน้ำไปดูแลรดต้นไม้ที่ปลูกไว้ ส่งผลให้เป็นปัญหาต่อการนำน้ำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ต้องเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่สม่ำเสมอ จนถูกมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญดูแลเอาใจใส่ต้นไม้มากกว่าคนที่กำลังเดือดร้อนขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ชี้แจงว่า การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำรถบรรทุกน้ำไปรดต้นไม้ที่ปลูกไว้บริเวณเขาขยาย ไม่ได้เป็นคำสั่งของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทแต่อย่างใด แต่เป็นการทำความตกลงกันไว้ในช่วงที่ทำโครงการฟื้นฟูเขาขยายฯ ที่ให้หน่วยงาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ช่วยกันดูแลต้นไม้ที่ปลูกไว้ ไม่ให้แห้งตายในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจากการตรวจสอบขณะนี้พบว่า มีต้นไม้ที่ปลูกไว้ตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพพื้นที่อาจจะไม่เหมาะต่อประเภทของต้นไม้ที่นำไปปลูก แต่ก็ยังมีบางต้นที่รอดอยู่ได้ ทางท้องถิ่นจึงสับเปลี่ยนหมุนเวียนนำน้ำเข้าไปรดให้รอดตาย
ทั้งนี้ ตนได้มีการพูดคุยกับองค์กรปกครองสวนท้องถิ่นต่างๆ ให้ดูแลแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นเมื่อมีเวลาเหลือจึงค่อยไปดูแลต้นไม้ที่เขาขยาย และจะให้หน่วยงาน เช่น แขวงทางหลวง/แขวงทางหลวงชนบท ที่มีรถน้ำประจำอยู่แล้วไปช่วยเสริมรดต้นไม้ที่เขาขยาย เพื่อให้ท้องถิ่นได้นำน้ำไปช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม จังหวัดชัยนาท ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.มโนรมย์ อ.วัดสิงห์ อ.หนองมะโมง อ.เนินขาม รวม 12 ตำบล 121 หมู่บ้าน มีประชาชน 47,025 คน 17,305 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ของ อ.สรรพยา เช่น หมู่ที่ 2 ต.เขาแก้ว ที่ประชาชนได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ซึ่งหลังจากประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง ทางจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคกว่า 3.3 ล้านลิตร แจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และในพื้นที่ขาดแคลนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว