ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ประกอบการ และนายจ้างในชลบุรีกว่า 2,000 คน แห่ฟังการชี้แจงแนวทางบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา หลังบัตรจะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค.59
วันนี้ (17 มี.ค.) ที่ศาลาประชาคมอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี นายพิชิต นิลทองคำ หัวหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ได้เรียกผู้ประกอบการ-นายจ้างในพื้นที่จังหวัดชลบุรี กว่า 2,000 คน มาชี้แจงหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าว ปี 2559 เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวฯ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 (2 ปี) ประกอบด้วย
กลุ่มที่จดทะเบียนตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (บัตรชมพู) กลุ่มที่ถือบัตรชมพู ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2559 นี้ กลุ่มติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี และกลุ่มที่มีหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง เอกสารรับรองบุคคล (ผ่านการตรวจสัญชาติ และอนุญาตทำงาน) ทั้งนี้ ไม่รวมกลุ่มที่นำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (MOU)
นายพิชิต กล่าวต่อว่า การชี้แจงในครั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการ-นายจ้างอาจไม่ทราบรายละเอียดของแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในความดูแลสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ หรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เช่น กรณีด้านหลังบัตรสีชมพู หมดอายุปี 2557-2558-2559 (คสช.) สามารถจดทะเบียนต่อได้ โดยจะต้องดำเนินการตามระเบียบที่แจ้งไว้เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
ส่วนกลุ่มบัตรสีชมพู ด้านหลังบัตรหมดอายุ วันที่ 1 พ.ย.2559 หรือ 31 ม.ค.2560 จดทะเบียนไม่ได้ เนื่องจากเป็นแรงงานประมงไม่อยู่ในกลุ่มที่จดทะเบียนได้ หรือกลุ่มบัตรชมพู ด้านหลังบัตรหมดอายุวันที่ 24 พ.ย.2559 หรือ 22 ก.พ.2560 จดทะเบียนไม่ได้ เนื่องจากเป็นแรงงานแปรรูปสัตว์น้ำไม่อยู่ในกลุ่มที่จดทะเบียนได้ ดังนั้น จึงต้องมีการชี้แจง และทำความเข้าใจต่อผู้ประกอบกาและนายจ้าง
ด้าน นางสุกัญญา เสนา นายจ้างรับเหมาก่อสร้างที่มีแรงงานชาวกัมพูชา และพม่า กล่าวว่า การเรียกผู้ประกอบการและนายจ้างในครั้งนี้ เพื่อมารับฟังแนวทางของเจ้าหน้าที่จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเรื่องข้อกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ของแรงงานต่างด้าวนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องจึงต้องมารับฟังการชี้แจง และหากไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ อาจจะผิดกฎหมาย และถูกดำเนินคดีได้ ทำให้นายจ้างสนใจมารับฟังเป็นจำนวนมาก