xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นพระเกจิดัง! “หลวงพ่อเที่ยง” วัดเขากระโดง บุรีรัมย์มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 75 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หลวงพ่อเที่ยง ปภังกโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
บุรีรัมย์- “หลวงพ่อเที่ยง” เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ มรณภาพแล้วอย่างสงบด้วยอาการหลอดเลือดในสมองอุดตัน และโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมัน สิริรวมอายุ 75 ปี 46 พรรษา เผยเป็นพระเกจิชื่อดังแห่งดินแดนที่ราบสูงสร้างวัตถุมงคลหลายอย่าง กำหนดสวดพระอภิธรรม 9 วัน ก่อนบรรจุสังขารในโลงมุกให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้

วันนี้ (7 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูสัจจานุรักษ์ หรือหลวงพ่อเที่ยง ปภังกโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทเขากระโดง เจ้าคณะตำบลเสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยอาการหลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ประกอบกับมีโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมัน หลังถูกส่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ตั้งแต่เช้าวันที่ 3 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา
พระครูสัจจานุรักษ์ หรือ หลวงพ่อเที่ยง ปภังกโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทเขากระโดง เจ้าคณะตำบลเสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ มรณภาพอย่างสงบ สิริรวมอายุ 75 ปี 46 พรรษา วันนี้ ( 7 มี.ค.)
ทั้งนี้ หลวงพ่อเที่ยงได้อาพาธด้วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงมานานหลายปี ระยะหลังอาการไม่ค่อยดี และเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 3 มี.ค. ขณะน้องสาวของหลวงพ่อเที่ยงและหลานที่มากุฏิหลวงพ่อเพื่อทำอาหารถวายหลวงพ่อทุกเช้า ได้ตะโกนเรียกหลวงพ่อหลายครั้งแต่ไม่มีเสียงตอบรับจากหลวงพ่อ จึงงัดประตูกุฏิเข้าไปพบหลวงพ่อมีอาการชักเกร็ง น้ำลายฟูมปาก และหมดสติ จึงโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลนำหลวงพ่อส่งโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ด้วยอาการไม่ได้สติ แพทย์รับหลวงพ่อรักษาในห้องไอซียู

จนกระทั่งเวลา 02.46 น. วันที่ 7 มี.ค. 2559 หลวงพ่อเที่ยงได้มรณภาพอย่างสงบ โดยมีอายุ 75 ปี 2 เดือน 7 วัน พรรษา 46 พรรษา ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งดินแดนที่ราบสูง

ล่าสุดทางญาติได้เคลื่อนสรีระสังขารของหลวงพ่อมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลาวัดพระพุทธบาทเขากระโดง โดยพระชั้นผู้ใหญ่ เกจิอาจารย์ชื่อดังจากจังหวัดต่างๆ รวมถึงศิษยานุศิษย์ทั้งในและต่างจังหวัดเดินทางมาร่วมแสดงความอาลัยและสรงน้ำศพสรีระสังขารของหลวงพ่อกันอย่างไม่ขาดสาย และเนื่องจากหลวงพ่อเที่ยงเป็นพระเกจิที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธา มีศิษยานุศิษย์ทั้งในและต่างประเทศ ทางวัดจึงได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพหลวงพ่อเที่ยง

ส่วนการบำเพ็ญกุศลศพของหลวงพ่อเที่ยง จะมีพิธีสวดพระอภิธรรมทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. เป็นเวลา 9 คืน จากนั้นจะมีพิธีบรรจุศพหลวงพ่อเที่ยงไว้ในโลงหีบมุกเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้

ด้าน พระใบฎีกา ทระนง ธนปัญโญ รองเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทเขากระโดง เลขานุการเจ้าคณะตำบลเสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลวงพ่อเที่ยงเป็นพระผู้มีวัตรปฏิบัติ เคร่งในวิปัสสนากรรมฐาน และความสันโดษ มีความเพียรเป็นเลิศ ตลอดชีวิตของท่านตั้งแต่บวชได้มุ่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนาโดยแท้ ทุกลมหายใจเข้าออกท่านกำหนดภาวนาจิตด้วยกรรมฐานมีสติอยู่เสมอ ทำให้ปฏิปทาของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักและเลื่อมใสศรัทธา

สำหรับประวัติ หลวงพ่อเที่ยง หรือพระครูสัจจานุรักษ์ ปภังกโร เดิมชื่อ นายเที่ยง อารมณ์ เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเส็ง วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 บิดาชื่อ นายเสด มารดาชื่อ นางมั่น อารมณ์ บ้านเลขที่ 108 หมู่ที่ 12 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บรรพชาอุปสมบท วันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ วันที่ 10 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2513 วัดอิสาน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จนถึงวันนี้ 46 พรรษา อายุ 75 ปี

หลวงพ่อเที่ยง ปภังกโร เป็นชาวบุรีรัมย์โดยกำเนิด ท่านเรียนจบแค่ประถมปีที่ 4 จากนั้นช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนามาตลอด ช่วงชีวิตในวัยรุ่นไม่ค่อยมีอะไรผาดโผนเท่าไรนัก เพราะเป็นคนขยันทำมาหากินอย่างเดียว กระทั่งอายุ 29 ปีท่านจึงเข้าอุปสมบทที่วัดอิสาน โดยมีพระเมธีธรรมาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อบุญมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อจำรัส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทแล้วมาอยู่จำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทเขากระโดง

หลวงพ่อเที่ยงศึกษาวิทยาคมและวิปัสสนากรรมฐานอยู่หลายปีจนเชี่ยวชาญเสมอด้วยหลวงพ่อบุญมาทีเดียว ซึ่งได้รับการแนะนำว่าถ้าจะบรรลุถึงธรรมปฏิบัติที่แท้จริงแล้วจะต้องออกธุดงค์เพื่อหาความวิเวกฝึกจิตสมาธิให้กล้าแข็ง ท่านจึงออกเดินธุดงค์จาริกหาความวิเวกไปตามป่าดงดิบทั้งไทย พม่า และเขมร ต่อมาหลวงพ่อบุญมาถึงแก่มรณภาพ ท่านได้เดินทางกลับมาเพื่อช่วยจัดการเกี่ยวกับศพของหลวงพ่อบุญมา และพระอธิการบุญเย็น พระอาวุโสในวัด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปต่อมา

หลังจากนั้นหลวงพ่อเที่ยงออกธุดงค์อีก คราวนี้ขึ้นไปทางเหนือ จุดหมายปลายทางคือฝั่งเมียวดี ประเทศพม่า ท่านผ่านทางแม่สอด จ.ตาก แล้วข้ามฟากมุ่งสู่ยอดดอย “ลิ้นกี่” ฝั่งเมียวดี แล้วเข้ากรรมฐานรักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่นเป็นเวลาเกือบปี

และวันหนึ่งท่านได้พบกับพระลาวรูปหนึ่งชื่อว่า หลวงมหาตันอ่อน เป็นพระเถระจากเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเชี่ยวชาญในคาถาอาคม ออกธุดงค์มานับสิบๆ ปีแล้ว ท่านทั้งสองได้แลกเปลี่ยนวิทยาคม และความรู้ด้านปฏิบัติสมถะสำหรับในด้านคาถาอาคมนั้น พระมหาตันอ่อนก็เปรียบเสมือนครูอีกคนหนึ่งของหลวงพ่อเที่ยง ท่านได้สั่งสอนวิทยาคมต่างๆ ให้กับหลวงพ่อเที่ยงอย่างไม่ปิดบัง กระทั่งใกล้เข้าพรรษาท่านทั้งสองก็ต้องแยกจากกันเพื่อหาที่พักจำพรรษารับอานิสงส์ตามประเพณีออกพรรษา

หลวงพ่อเที่ยงแบกกลดคู่ชีพธุดงค์มุ่งหน้าสู่เขาพระวิหารเพื่อบำเพ็ญเพียรสร้างสมบารมี ที่เขาพระวิหารนี้ท่านได้พบกับพระเถระของเขมรระดับเกจิหลายรูปด้วยกัน ได้ฝากตัวเป็นศิษย์รับการถ่ายทอดวิชาการต่างๆ อย่างเต็มที่

หลวงพ่อเที่ยงธุดงค์เข้าไปในเขมรพร้อมกับพระอาจารย์อุทัยเพื่อนสหธรรมมิก พบกับพระเกจิอาจารย์ขมังเวทชาวเขมรได้รับความเมตตาสั่งสอนถ่ายทอดวิทยาคมต่างๆ อย่างไม่ปิดบัง จนสำเร็จอภิญญาทางอิทธิฤทธิ์ หรือสมถกรรมฐานนั่นเอง ท่านรอนแรมธุดงค์อยู่ในป่าเสียมากกว่าจะอยู่ในเมือง พยายามที่จะทำวิปัสสนาธุระให้ได้ และศึกษาความรู้จากพระอาจารย์ต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น