เชียงใหม่ - กำนันตำบลน้ำแพร่ ผู้บริหาร พร้อมผู้นำชุมชน เปิด “แกรนด์แคนยอนหางดง เชียงใหม่” ให้พิสูจน์ระบบรักษาความปลอดภัย หลังโดนหางเลขสั่งปิด 15 วัน ยันมีการ์ด-เสื้อชูชีพ-ห่วงยาง-แพกลางน้ำ ดูแลนักท่องเที่ยวทุกจุด พร้อมป้ายคำเตือนชัดเจน เตรียมทำเรื่องขอความเป็นธรรมส่งตรงถึงผู้ว่าฯ
วันนี้ (25 ก.พ.) นายฉัตรกรินทร์ ตระกูลอินสัน กำนันตำบลน้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้บริหารแกรนด์แคนยอนหางดง พร้อมผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ได้เปิดแกรนด์แคนยอน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ให้ผู้สื่อข่าวตรวจสอบความพร้อมระบบรักษาความปลอดภัย หลังผู้ว่าฯ เชียงใหม่ใช้อำนาจตามคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 50 สั่งปิดชั่วคราว 15 วัน
โดยเปิดให้ตรวจสอบทั้งพนักงานการ์ดดูแลนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการที่ได้รับการอบรมมาแล้ว ระบบรักษาความปลอดภัย เสื้อชูชีพ ที่ให้นักท่องเที่ยวใส่ ห่วงยาง เรือยาง ตลอดจนแพกลางน้ำที่มีเป็นจุดๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้พักระหว่างลงเล่นน้ำ
นายฉัตรกรินทร์เปิดเผยว่า แกรนด์แคนยอนเริ่มเปิดดำเนินการแบบมีระบบจัดการเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2558 โดยเรามีระบบรักษาความปลอดภัย มีพนักงานการ์ดดูแลทุกจุด มีเสื้อชูชีพ มีแพยาง-ห่วงยาง พร้อมป้ายคำเตือนต่างๆ ในการท่องเที่ยวทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
กรณีเกิดเหตุชาวเกาหลีเสียชีวิตที่แกรนด์แคนยอนหางดงนั้น เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่ได้เปิดให้บริการ ไม่ได้เข้ามาจัดระบบดูแล แต่นักท่องเที่ยวลักลอบเข้ามาเล่นกันเอง
ต่อมาเราได้เข้ามาพัฒนาสร้างร้านค้า วางระบบรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ดูแล ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรงเพราะเรามีระบบขั้นตอนในการเล่นน้ำ โดยมีพนักงานในชุมชนร่วมดูแลกว่า 20 คน หลังเปิดแกรนด์แคนยอนก็ทำให้คนในชุมชนเรียนรู้เรื่องภาษาต่างประเทศ มีการฝึกการดูแลพื้นที่ท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชนสร้างการเรียนรู้ สร้างอาชีพ และรายได้ให้ชุมชน
“จากที่มีข่าวสั่งปิดจำนวน 15 วันผมก็ยังไม่ได้รับหนังสือ มีแต่ข่าวออกมาว่าเราโดนสั่งปิดไปด้วย ซึ่งยืนยันว่าทางแกรนด์แคนยอนฯ ดูแลนักท่องเที่ยวทุกขั้นตอน มีการป้องกันอย่างดี ทั้งแพเรือยาง ห่วงยางมีปลอดภัยมาตลอด แต่ทางส่วนราชการกลับให้เราปิดปรับปรุงเพราะมีอุบัติเหตุที่อื่น แล้วเอามาพ่วงรวมกับแกรนด์แคนยอนฯ ผมจึงต้องขอความเป็นธรรมด้วย”
นายฉัตรกรินทร์บอกว่า เบื้องต้นจะทำหนังสือชี้แจงผังระบบป้องกันต่างๆ ขอความเห็นใจต่อทางจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป