สุรินทร์ - สุดยอดแม่เฒ่าเมืองช้าง คุณยายผู้สูงวัย 60-75 ปี ไม่ยอมเป็นภาระลูกหลานรื้อฟื้นความรู้ติดตัวมาแต่ดั้งเดิม รวมกลุ่มกันประดิษฐ์ “บายศรี” จากใบตองดอกไม้สด ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมจัดทีมเดินสายตามงานพิธีต่างๆ ทั้งในและต่างจังหวัด รวมถึง สปป.ลาว เผยได้เพื่อนคุยคลายเหงา มีความสุข และสร้างรายได้งามปีละหลายแสน
วันนี้ (22 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พบกับกลุ่มคุณยายผู้สูงวัย ภายในหมู่บ้านแคน หมู่ที่ 9 ต.ธาตุ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในพื้นที่เพื่ออนุรักษ์การประดิษฐ์บายศรีจากใบตองและดอกไม้สด โดยเริ่มแรกมีสมาชิกเพียง 3-4 คนเท่านั้น และเรียนรู้จากผู้เฒ่าที่มีประสบการณ์ความชำนาญการทำบายศรีในหมู่บ้านจนปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 20 คนแล้ว พร้อมกับได้ปลูกพืชวัสดุกันเอง ทั้งต้น กล้วย ดอกดาวเรือง สามารถสร้างงาน สร้างรายได้งามหลายแสนบาทต่อปี
ทั้งนี้ จากการสอบถามทราบว่า เป็นความคิดริเริ่มของคุณยายรินทอง ดันนอก อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 บ้านแคน หมู่ 9 ต.ธาตุ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ และคุณยายแพง นามปัญญา อายุ 69 ปี ได้รวมกลุ่มกันกับบรรดาเพื่อนผู้สูงอายุในหมู่บ้านแคน ประมาณ 3-4 คน ร่วมกันประดิษฐ์บายศรีจากใบตองและดอกไม้สด เมื่อปี 2556 โดยเริ่มทำกันแบบกลุ่มเล็กๆ และไม่ได้คาดหวังอะไรมาก นานทีปีหนถึงจะมีลูกค้ามาสั่งทำบายศรีสักครั้ง
ต่อมาประมาณปี 2558 เริ่มมีลูกค้าในพื้นที่ อ.รัตนบุรี และตัวเมืองสุรินทร์ รวมทั้งลูกค้าต่างจังหวัด อาทิ จ.นครพนม, จ.สกลนคร, จ.ยโสธร, จ.มุกดาหาร และลูกค้าจาก สปป.ลาว มาสั่งทำบายศรี ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุบ้านแคนได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันมีสมาชิกที่มีเวลาว่างและอาศัยในหมู่บ้านแคน อายุตั้งแต่ 60 ปี ไปจนถึงอายุ 73 ปี รวมกว่า 20 คน โดยร่วมกันทำกันเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัสดุอุปกรณ์ซึ่งส่วนมากเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มีอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ส่วนดอกไม้สดชนิดต่างๆ รวมทั้งใบตองจากต้นกล้วยได้ปลูกกันเอง และซื้อวัสดุบางอย่างที่ไม่สามารถทำเองได้แต่เป็นส่วนน้อย
ส่วนราคาบายศรีขึ้นอยู่กับขนาด ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 100-10,000 หมื่นบาท สำหรับการบริหารผลประโยชน์ เมื่อถึงเวลาสิ้นปีหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเงินส่วนที่เหลือจะแบ่งปันให้เท่ากันทุกคน
คุณยายอุ่น สุขสนอง อายุ 71 ปี กล่าวว่า เริ่มต้นรวมกลุ่มกันทำบายศรีใบตองดอกไม้สด เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา จนทุกวันนี้มีสมาชิกกว่า 20 คน และมีอยู่กว่า 10 คน ที่ออกเดินสายทำบายศรี ใบตองดอกไม้สด ตามงานพิธีต่างๆ เช่น จ.นครพนม สกลนคร มุกดาหาร เลย ยโสธร ขอนแก่น และ สปป.ลาว มีรายได้ครั้งละประมาณกว่า 1 แสนบาท เพื่อเก็บทุนไว้หมุนเวียนซื้อวัสดุ ดอกไม้ อุปกรณ์ต่างๆ สิ่งไหนสึกหรอก็ซื้อมาเพิ่ม เมื่อสิ้นปีก็มีกำไรพอได้แบ่งกันใช้ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มมีอายุ 60 ปี ขึ้นไป อายุสูงสุดคือ 75 ปี
สำหรับการเดินทางไปทำบายศรีนอกสถานที่นั้น ทางกลุ่มจะทำฐานบายศรีแล้วนำดอกไม้สดไปประกอบที่หน้างาน แต่ละงานจะพากันไปประมาณ 10 คน ส่วนคนไหนเดินทางลำบากก็ไม่ต้องไป
“การมารวมกลุ่มทำบายศรีของผู้สูงอายุบ้านแคน ไม่ได้มองที่รายได้เป็นหลัก หากแต่มองที่การได้มีเพื่อนคุยกัน ได้รับประทานข้าวร่วมกัน ทำให้ไม่เหงา และมีความสุข และไม่เคยคาดคิดว่าการทำบายศรีจะเป็นอาชีพได้ จนขณะนี้ทางกลุ่มมีรายได้ปีละหลายแสนบาทแล้ว จึงอยากให้เด็กรุ่นลูกหลานมาศึกษาและสานต่อจะได้เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอีสาน และสามารถยึดเป็นอาชีพได้ ซึ่งทางกลุ่มผู้สูงอายุบ้านแคนเรายินดีถ่ายทอดให้ฟรีด้วย” คุณยายอุ่นกล่าว
อนึ่ง “บายศรี” คือ เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทําด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงเป็นชั้นๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลําดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอด บายศรี มีหลายอย่างเช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ เป็นต้น