จันทบุรี - สภาพอากาศแปรปรวนหนาวสลับร้อน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเลี้ยงจระเข้ส่งขายในจังหวัดจันทบุรี หลังจระเข้ไม่ยอมกินอาหาร และมีการเจริญเติบโตช้า
นายบุญสม จันทสิทธิ์ อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 ถนนเทศบาลสาย 1 ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีสภาพอากาศที่แปรปรวนหนาวสลับร้อน ทำให้ตนเองต้องประสบต่อปัญหาฟาร์มจระเข้ที่เลี้ยงไว้ส่งขาย ได้รับผลกระทบ หลังจระเข้ไม่ค่อยกินอาหาร และมีการเจริญเติบโตช้า และเสี่ยงเป็นโรคป่วยตายง่าย รวมทั้งใช้เวลาการเลี้ยงที่ยาวนานขึ้น ซึ่งปกติการเลี้ยงจระเข้ประมาณ 2 ปีครึ่ง ก็จะได้จระเข้ตามไซส์ที่ตลาดต้องการ แต่การเลี้ยงจระเข้ชุดนี้กลับใช้เวลาเลี้ยงมากว่า 3 ปีแล้ว จระเข้ยังไม่ได้ไซส์ ทำให้ตนเองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงจระเข้ส่งขายเพิ่มมากขึ้น ผลกำไรได้น้อยลง ทั้งนี้ มาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้
นายบุญสม กล่าวต่อว่า แต่ตอนนี้ตนเองได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่มีอากาศหนาวสลับร้อน ทำให้ตนเองต้องมีการนำสแลนมากางบังแดด และมีการถ่ายเปลี่ยนน้ำเป็นประจำทุกวันเพื่อไม่ให้จระเข้เกิดอาการเครียด เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ประกอบกับในช่วงนี้ส่งผลทำให้จระเข้ที่ตนเองเลี้ยงไว้ในบ่อปูนไม่ค่อยกินอาหาร และมีการเจริญเติบโตช้า อีกทั้งเมื่อจระเข้ไม่กินอาหารทำให้จระเข้ไม่โต และไม่แข็งแรง
นอกจากนี้ นายบุญสม ยังบอกอีกว่า ในการลงทุนเลี้ยงจระเข้นั้นต้องใช้ทุนมากพอสมควร ทั้งเรื่องของอาหาร หรือแม้แต่น้ำที่ใช้ก็จะต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเป็นประจำทุกวัน ส่วนเรื่องของการส่งขาย นายบุญสม กล่าวต่อว่า ตนเองจะส่งขายให้แก่ฟาร์มจระเข้ที่มาติดต่อขอซื้อ โดยจะขายให้แก่ฟาร์มเมื่อจระเข้โตได้ขนาดที่ฟาร์มต้องการโดยจะขายในราคาตัวละ 3,500-4,000 บาท
ส่วน นายวิเชียร จัตตุลี้ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16/14 หมู่ที่ 15 ตำบลทับช้าง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 45 ตัว กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ภัยแล้ง และอากาศที่ร้อน หลังหญ้าที่เป็นอาหารของโคนมเริ่มขาดแคลน และหายาก ประกอบกับอากาศที่ร้อนทำให้โคนมให้น้ำนมน้อย และราคานมในปีนี้ตกต่ำ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องมีการเพิ่มอาหารเสริม
เช่น เผือก มัน ข้าวโพดหมัก และฟางข้าวแทน แต่ทำให้เกษตรกรต้องแบกภาระต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผลกำไรที่จะได้กลับคืนมาไปคุ้มทุนที่ได้ลงทุนไป เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบางรายถึงกับไม่สามารถแบกรับภาระไหว และได้เลิกเลี้ยงไปก็มี ซึ่งในปีนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเผยว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา หญ้าที่เคยมี ปัจจุบันไม่มีให้เกษตรกรได้เก็บมาเป็นอาหารในการเลี้ยงโคนม ประกอบกับฝนก็ไม่ตกมานานหลายเดือน จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ตำบลทับช้าง ได้รับความเดือดร้อน
ในเรื่องนี้ นายวิเชียร จัตตุลี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อน และไม่มีฝนตกลงมาทำให้โคนนมที่เลี้ยงไว้ให้น้ำน้อย ประกอบกับเกษตรกรต้องเสียเงินเพิ่มในการซื้อฟางแทนหญ้าที่ปัจจุบันไม่มีหญ้าให้เกษตรกรได้เก็บแล้วเ พราะสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และอากาศที่ร้อน ซึ่งการเลี้ยงโคนมในช่วงนี้ฤดูร้อนไม่ค่อยได้ผลเหมือนกับการเลี้ยงโคนมในช่วงฤดูหนาว ตอนนี้ขาดแคลนในเรื่องของหญ้าที่เป็นอาหารของโคนม ต้องไปซื้อเผือก มัน ข้าวโพดหมัก และฟางเข้ามาทดแทนซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขึ้นไปอีก