มหาสารคาม - เปิดยิ่งใหญ่งานบุญเบิกฟ้ามหาสารคาม สืบสานประเพณีความเชื่อผสมผสานวิถีชีวิตของเกษตรกร เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ฟ้าจะไข หรือเปิดประตูฝนให้ตกลงสู่โลกมนุษย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าสนามที่ว่าการอำเภอเมือง จ.มหาสารคาม นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยห้วหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันเปิดงานบุญเบิกฟ้า และกาชาดประจำปี 2559 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวอีสานให้คงสืบไป โดยในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย
เช่น การจัดขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่อลังการด้วยวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวอีสานในวันเปิดงาน พิธีกรรมการบวงสรวง การแสดงชุดรำบูชาพระแม่โพสพอันสวยงาม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม การประกวดและแข่งขันเกี่ยวกับงานศิลปวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสาน การประกวดผลงานด้านการเกษตร การออกร้านมัจฉากาชาด การจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงมหรสพจากวงดนตรี/หมอลำที่มีชื่อเสียงทุกวัน ณ เวทีกลาง
นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า “ประเพณีบุญเบิกฟ้า” เป็นประเพณีที่ชาวอีสานได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ฟ้าจะไข หรือเปิดประตูฝนให้ตกลงสู่โลกมนุษย์ ดังนั้น ชาวอีสานจึงถือเอาฤกษ์สำคัญนี้ นำปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลโค กระบือ ไปใส่ในเรือกสวนไร่นาของตนเองอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นการฟื้นฟูบำรุงดิน
โดยจังหวัดมหาสารคาม ถือได้ว่าเป็นจังหวัดเดียวในภาคอีสานที่ได้นำเอาประเพณีบุญเบิกฟ้ามาจัดเป็นงานประจำปีของจังหวัด เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการฟื้นฟู บำรุงดิน เพื่อเตรียมสำหรับการเพาะปลูกพืชไร่ของตนต่อไป
นอกจากนี้ ที่บริเวณหน้าสนามกีฬาโรงเรียนหลักเมือง จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับการท่องเที่ยว และกีฬาจังหวัดมหาสารคาม ยังจัดให้มีการแสดงแสง สี เสียง เรื่อง บุญเบิกฟ้า สืบสานวิถีถิ่น ศิลป์เบิกฟ้า นครจำปาศรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 กุมพาพันธ์ 2559 โดยทำการแสดง 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 20.00 น.-21.00 น. ดำเนินเรื่องตำนานเมืองมหาสารคามตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จนถึงยุคปัจจุบัน
ส่วนการแสดงตำนานบุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นความเชื่อผสมผสานกับวิถีชีวิตการเกษตรอย่างลงตัว บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวอีสาน โดยเมื่อถึงวันขึ้น 3 เดือน 3 ชาวบ้านจะฟังเสียงฟ้าร้อง ก่อนที่จะนำมูลโคไปใส่ในไร่นา ซึ่งวิถีดังกล่าวได้จางหายไป เหลือแต่ความเชื่อที่ยังหลังเหลือ
ดังนั้น การท่องเที่ยว และกีฬาจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับสถาบันการศึกษาในจังหวัดมหาสารคาม จึงได้จัดการแสดงแสงสีเสียงขึ้น เพื่อเป็นกระกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจในวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งตลอดการแสดงกว่า 1 ชั่วโมง สร้างความตื่นตาให้อด่ประชาชนที่เข้าร่วมชมเป็นอย่างมาก