xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.สำนักอนุรักษ์ที่ 2 เตรียมแก้ปัญหาช้างป่ากวนชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ที่ 2 เตรียมเดินหน้าแก้ปัญหาช้างป่าเขาอ่างฤาไน ที่ออกมารบกวนชาวบ้าน โดยมีแผนสร้างเสริมจุดอ่อนของคูกันช้างให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวป้องกันบางพื้นที่ให้เข้ากับสภาพพื้นที่ เผยพฤติกรรมรื้อค้นกระท่อมชาวไร่เป็นเพียงสัญชาตญาณในการหาอาหารของสัตว์ป่า

วันนี้ (5 ก.พ.) นายอยู่ เสนาธรรม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลควบคุมพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ในภาคตะวันออก กล่าวถึงปัญหาช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ที่สามารถปีนป่ายข้ามแนวของคูกันช้างออกไปจากป่าได้ว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางสำนักอนุรักษ์ฯ พื้นที่ ก็ทราบถึงปัญหาดีแล้วว่าช้างป่านั้นเขาก็มีความคิดที่จะเอาชนะเราด้วยเหมือนกัน

ขณะนี้ทางสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 จึงได้เตรียมที่จะนำเรื่องดังกล่าวนี้เข้าไปยังที่ประชุม เพื่อหารือกับทางมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี) เพื่อที่จะขอเงินงบประมาณในการนำมาสนับสนุนทำรั้วลวดไฟฟ้า ในการจัดหาซื้อเครื่องช็อตไฟฟ้าแบบที่ชาวบ้านใช้ล้อมวัว จำนวน 20 เครื่อง

เพื่อที่จะนำมาทำการติดตั้งไว้ยังที่ด้านบนของคูกันช้างอีกชั้นหนึ่ง ในจุดที่ช้างใช้เป็นเส้นทางเดินข้ามเข้าออกอยู่เป็นประจำ รวมระยะทางประมาณ 20 กม. โดยจะใช้ลวดตัวนำไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าออกไปรบกวนพื้นที่เกษตรกรรม และทำร้ายชาวบ้านที่เข้ามาทำไร่ใกล้กับแนวชายป่า ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะได้เตรียมนำเสนอไปยังที่ประชุมมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อให้ทางประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดทราบ

นอกจากนี้ ยังจะต้องแสวงหาความร่วมมือกับทางฝ่ายของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอยู่ใกล้กับแนวชายป่าให้เข้ามามีส่วนร่วม หรือรับผิดชอบในการเข้ามาดูแล และช่วยกันขึงลวดไฟฟ้า เพื่อป้องกันช้างออกจากป่าในครั้งนี้ด้วย เพราะถือว่าเป็นการช่วยกันป้องกันอันตรายจากช้างป่าให้แก่ชาวบ้านเองด้วย

นายอยู่ เสนาธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนคูกันช้างที่ได้มีการขุดสร้างขึ้นมาแล้ว ตลอดความยาวกว่า 100 กม.นั้น ก็ต้องมีการปรับปรุงในส่วนที่พังเสียหายให้สามารถกลับมาใช้งานได้ และจะมีการทำการขุดคูกันช้างเพิ่มเติม เพื่อป้องกันช้างออกจากป่าต่อไปอีก 93 กม. ในปี 2559 นี้ จากบริเวณป่าคลองกลาง ลงมาทางด้านทิศตะวันตก ผ่านมายังป่าสามพราน และป่าหลุมจังหวัด นอกจากนี้ยังจะต้องมีการซ่อมแซมแนวคูกันช้างเดิมทางฝั่งตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ด้าน อ.เขาชะเมา จ.ระยอง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ไปจนถึงเขา 15 ชั้น ที่มีช้างป่าออกไปรบกวนชาวบ้านอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน

โดยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นทางด้าน อ.แก่งหางแมว นั้น เกิดจากแนวคูกันช้างพัง หรือทรุดตัว ลงตรงบริเวณจุดที่เป็นพื้นดินอ่อน หรือจุดชุ่มน้ำที่เป็นห้วย หรือมีน้ำขัง โดยเฉพาะบริเวณหนองน้ำนั้นช้างป่าสามารถที่จะลอยคอว่ายน้ำพากันออกไปได้ด้วยเช่นกัน เพราะช้างป่านั้นเขาก็ว่ายน้ำเป็น โดยอาจต้องมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการป้องกันช้างออกจากป่าไปตามสภาพพื้นที่ และจุดที่พบปัญหาเกิดขึ้นในแต่ละแห่ง ซึ่งอาจจะต้องทำเป็นแนวรั้วขนาดใหญ่แบบถาวร โดยใช้สลิงข้ออ้อยขึงในบางจุดที่เป็นดินอ่อน

ส่วนกรณีที่มีชาวบ้านระบุว่า ช้างป่าที่ออกไปยังในพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าไปรื้อค้นทำลายกระท่อมเพิงพักนอนเฝ้าไร่ของชาวบ้านนั้น เป็นเพียงลักษณะของการรื้อค้นตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่า ที่ได้กลิ่นของอาหาร เช่น ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา หรือกลิ่นเกลือ และปลาร้า ที่ชาวบ้านมักมีเก็บเอาไว้ในกระท่อมเฝ้าไร่ เนื่องจากกลิ่นของอาหารดังกล่าวนี้มีกลิ่นความเค็มคล้ายกับกลิ่นเกลือจากโป่งช้างเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น