xs
xsm
sm
md
lg

ไตลื้อลำปาง ฟื้นประเพณีเก่าแก่ “เลี้ยงผีหัวศาล” เชื่อแก้แล้ง-เรียกความชุ่มชื้นคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - ชาวไตลื้อเมืองรถม้า ร่วมรื้อฟื้นประเพณี “เลี้ยงผีหัวศาล” ตามความเชื่อดั้งเดิมของคนไตลือที่อพยพมาจากสิบสองปันนา สป.จีน ที่สูญหายไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ หลังเห็นบ้านเมืองแห้งแล้ง แหล่งน้ำแห้งขอดแบบไม่เคยเห็นมาก่อน

วันนี้ (22 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวไตลื้อที่อาศัยอยู่ใน ต.กล้วยแพะ อ.เมืองลำปาง ได้จัดพิธี “เลี้ยงผีหัวศาล” ขึ้นที่ทุ่งหลวง กลางทุ่งนาบ้านกล้วยหลวง หมู่ 1 ต.กล้วยแพะ เมื่อเร็วๆ นี้ ท่ามกลางกลุ่มชาวไตลื้อกว่า 200 คน ที่พากันแต่งกายด้วยชุดไตลื้อแบบดั้งเดิมแห่เครื่องสักการบูชาร่วมพิธี โดยมีนายสมเกียรติ ตันตระกูล นายอำเภอเมืองลำปาง เป็นประธาน

ประเพณี “ถวายเลี้ยงผีหัวศาล” เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไตลื้อ เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างช้านาน แต่ได้สูญหายไปกว่า 50 ปี ขณะที่ชาวบ้านเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในห้วงที่ประเพณีเก่าแก่ถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะแหล่งน้ำจากเดิมเคยอุดมสมบูรณ์ไม่เคยขาด แต่ปัจจุบันกลับแห้งแล้ง แหล่งน้ำที่อยู่บริเวณหัวศาลก็แห้ง จึงได้ประชุมระดมความคิดจนสุดท้ายทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า “สาเหตุของความแห้งแล้งดังกล่าวน่าจะมาจากที่ชาวบ้านละทิ้งประเพณีและพิธีกรรมอันเป็นความเชื่อเหล่านั่นไป” จึงได้ร่วมกันรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เป็นปีแรกในปีนี้ สำหรับเครื่องสักการบูชาผีหัวศาลนั้นมีทั้งเนื้อหมู ผลไม้ ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องเซ่นไหว้ รวมทั้งมีการฟ้อนผีมด ร่างทรง ก่อนจะนำเครื่องสักการะถวายผีหัวศาลที่ชาวไตลื้อเคารพนับถือ

นอกจากนี้ ตลอดห้วงที่มีการถวายได้มีร่างทรงของ “เจ้าแม่จันทร์ขาว” ซึ่งมีศาลอยู่ติดกับเจ้าพ่อหัวศาล ก็ได้ทำพิธีปัดเป่าให้กับชาวบ้านที่มีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย และ เสกมนต์น้ำมนต์ ให้ดื่ม รวมถึงผูกข้อมือ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวไตลื้อที่มาร่วมงานด้วย

นางภารดี ฝั้นจักสาย นายกสมาคมไตลื้อ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ความจริงแล้วบรรพบุรุษของเราพี่น้องชาวไตลื้อ มีการเลี้ยงผีหัวศาลอยู่เหมือนกัน แต่จะเลี้ยงแค่คนสองคนของแต่ละหมู่บ้าน แต่ชาวไตลื้อส่วนใหญ่ไม่ได้มาร่วมพิธีกรรมด้วย วันนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทางสมาคมไตลื้อจังหวัดลำปางได้มาร่วมพิธีกรรมพร้อมกัน เป็นการรื้อฟื้นพิธีกรรมนี้ขึ้นมาหลังจากสูญหายไปนานกว่า 50 ปี เพื่อความรักและสามัคคีกันของชาวไตลื้อ

ในสมัยก่อนถ้าย้อนหลังไป ชาวไตลื้อจะมารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมายทุกคน หากใครมีธุระหรือการงานก็ต้องหยุด และมารวมตัวกันเพื่อร่วมพิธีกันที่นี่ สำหรับเครื่องสักการะเซ่นไหว้ที่ชาวไตลื้อปฏิบัติมา 2 ปีแรกจะเลี้ยงไก่ ปีที่ 3 จะเลี้ยงหมู ซึ่งถือปฏิบัติกันมาน หากปีไหนเลี้ยงหมูก็จะนำหมูเป็นๆ มาชำแหละที่บริเวณงานแล้วนำมาประกอบอาหาร เลี้ยงผีหัวศาล ก่อนจะแจกลูกแจกหลานเพื่อสร้างความสมานสามัคคีในหมู่ไตลื้อ

“ชาวไตลื้อเคารพบูชาผีหัวศาลมานานหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่คนรุ่นก่อนที่จะย้ายมาจากสิบสองปันนา ประเทศจีน มาปักหลักปักฐานอยู่ที่ ต.กล้วยแพะ ผีหัวศาลถือว่าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไตลื้อ หากจะทำมาหากิน ทำการเกษตรไม่มีน้ำ หรือผลผลิตไม่ดี แม้กระทั่งไม่สบาย ทุกคนก็จะมาบนบานศาลกล่าวขอให้ผีหัวศาลช่วย ซึ่งก็สามารถช่วยได้จริงๆ” นางภารดีกล่าว
นางภารดี ฝั้นจักสาย นายกสมาคมไตลื้อ จังหวัดลำปาง




กำลังโหลดความคิดเห็น