เชียงราย - กสทช.เดินสายทำแผนรับมือภัยพิบัตินำร่องภาคเหนือที่เชียงรายก่อน หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ปี 57 ก่อนงใต้ต่อเป็นคิวต่อไป
วันนี้ (22 ม.ค.) นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.ได้เป็นประธานเปิดการประชุมซักซ้อมแผนภัยพิบัติ กรณีโครงข่ายโทรคมนาคมได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติที่โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย หลังจากเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่เชียงราย เมื่อ 5 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา โดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายก่อกิจกล่าวว่า กรณีโครงข่ายโทรคมนาคมได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ถือว่ามีความจำเป็นที่สำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วจะมีแต่ความโกลาหล ผู้ที่ประสบเหตุ-ผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะโหมใช้บริการกันมาก ขณะที่อุปกรณ์เกี่ยวข้องกับโครงข่าย เช่น เสาโทรศัพท์ สายส่ง ฯลฯ อาจเกิดความเสียหาย ณ จุดใดจุดหนึ่ง หรือหลายจุด ทำให้อาจเกิดปัญหาในการแก้ไข
ดังนั้น ทาง กสทช.จึงได้กำหนดแผนดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1. ต้องทำให้ระบบโครงข่ายโทรคมนาคมกลับมาใช้งานได้ให้เร็วที่สุด หรืออย่างน้อยภายใน 24 ชม.เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนที่ต่างใช้การสื่อสาร โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือกันหนาแน่นในช่วงนั้น สามารถใช้การได้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และ 2. ร่วมกับรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ฯลฯ ปรับจราจรการคมนาคมที่เป็นงานหลักให้ใช้งานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะหน่วยงานสั่งการเพื่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งออกแบบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มีอำนาจหน้าที่โดยตรง
นายก่อกิจกล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเหตุเครื่องมือสื่อสารของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จะต้องใช้ได้ก่อน จากนั้นทีมงานหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องใช้ได้ด้วย เนื่องจากต้องประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ทั้งส่วนกลาง และพื้นที่ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีการประสานใช้ระบบ Call center ให้สามารถใช้สอบถามข้อมูลในช่วงนั้นๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเอกชนก็มีบริการนี้กันอยู่แล้ว
“เราเคยมีกรณีตัวอย่างเหตุไฟไหม้ที่แม่ฮ่องสอน เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้หันไปใช้ระบบดาวเทียมในการแก้ไขปัญหาด้านการสั่งการ จนสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยใช้เวลาประมาณ 30 ชั่วโมง เป็นต้น”
นายก่อกิจกล่าวอีกว่า ในการดำเนินโครงการนี้จะเริ่มที่ จ.เชียงรายก่อน โดยนำแผนไปนำเสนอ และสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเสร็จจากภาคเหนือแล้ว กสทช.จะลงไปดำเนินการที่ภาคใต้ตามลำดับต่อไป
ด้านนายประจญกล่าวว่า จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมา โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ทำให้เกิดประสบการณ์ขึ้นมาว่าเมื่อเหตุเกิดขึ้นจริงๆ แล้วเราจะมีระบบสั่งการตรงหรือ Single command ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร กรณีแผ่นดินไหวที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหากว่าจะประสานกับส่วนกลาง และเรียกข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้ต้องใช้เวลานานเกินไป ซึ่งถ้า กสทช.จัดวางระบบดังกล่าว โดยเฉพาะด้านโครงข่ายคมนาคมที่เป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของการได้มาซึ่งข้อมูลและการประสานงาน ก็จะทำให้แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไปได้