พิษณุโลก - ทหารม้า ม.พัน.9 รุดสร้างแท็งก์น้ำกินน้ำใช้ให้ชาวบ้าน หลังเจอแล้งหนัก ต้องแบ่งจ่ายน้ำประปากันใช้ทีละฝั่งถนน ขณะที่กองพลทหารราบที่ 4 ดึง อปท.เร่งกำจัดผักตบชวา เปิดทางน้ำคูคลอง แก้ปัญหาภัยแล้ง
วันนี้ (20 ม.ค.) พล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 เป็นประธานในพิธีเปิดการพัฒนาทำความสะอาดคูคลอง และกำจัดผักตบชวา นำกำลังพลร่วมมือ อบจ.พิษณุโลก, เทศบาลนครพิษณุโลก, เทศบาลตำบลอรัญญิก และชุมชนต่างๆ พร้อมนักศึกษาวิชาทหารมลฑลทหารบกที่ 39 ทำความสะอาดคูคลองสาธารณะคลองกระเปา อ.เมืองพิษณุโลก
พล.ต.นพพรกล่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งการให้ทหาร พล.ร.4 และนักศึกษาวิชาทหารมาร่วมกันพัฒนา กำจัดผักตบชวาที่หนาแน่นตามลำคลอง ทำให้เป็นแหล่งระบายน้ำ บริเวณชุมชนข้างเคียง 4-5 ชุมชนแห่งนี้ ในห้วง 1 สัปดาห์นับจากนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากนายก อบจ.พล, ทต.อรัญญิก และเทศบาลนครพิษณุโลก และหลังจากนี้จะเดินหน้าลุยขุดลอกผักตบชวาต่อที่คลองโคกช้าง และคลองอื่นๆ อีก ส่วนผักตบที่นำขึ้นมาก็ให้ประชาชนในพื้นที่นำไปทำปุ๋ยได้
วันเดียวกัน พ.ท.ธนกฤติ สุขเกิด ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 9 เป็นประธานส่งมอบถังน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมแท่น และอุปกรณ์ จำนวน 1 ชุด ( 2 ถัง) ให้แก่ผู้ใหญ่บ้านวังยาว ต.บ้านป่า อ.เมือง พิษณุโลก “ตามโครงการคนไทยหัวใจเดียวกัน” หลังชุดทหารช่าง ม.พัน 9 ก่อสร้างถังน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้วยงบประมาณ 3 หมื่นบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบภัยแล้ง หลายครอบครัวขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
พ.ท.ธนกฤติกล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภาคที่ 3 (ศปป.กอ.รมน.ภาค 3) ได้สนับสนุนถังน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 1 ถังละ 3,000 ลิตร รวม 2 ถัง หรือ 6,000 ลิตร พร้อมเดินท่อประปาให้แก่ชาวบ้านเพื่อบรรเทาภัยแล้งปีนี้ เพราะก่อนหน้านี้ได้สำรวจความเดือนร้อนพบว่า ชาวบ้าน ต.บ้านป่า และ ต.ดอนทอง จำนวน 19 ตำบล มีปัญหาภัยแล้ง จากนี้ไปหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนให้แจ้งมายังอำเภอเมือง หรือกองพันทหารม้าที่ 9 ได้ทุกเมื่อ
นางลูกคิด เพียงต่อ ผู้ช่วยผู้ใหญบ้าน หมู่ 10 บ้านวังยาง ต.บ้านป่า อ.เมือง พิษณุโลก กล่าวว่า หมู่บ้านวังยาวมีประชากร 154 ครัวเรือน ต่างประสบปัญหาภัยแล้งเดือดร้อนมาก เพราะใต้ดินเป็นทรายแป้ง เมื่อเจาะบ่อบาดาลลงลึกกว่า 100 เมตร พบว่าน้ำขุ่น และปริมาณน้ำน้อยไม่พอใช้ ทุกวันนี้ต้องทำเรื่องเสนอไปยัง อบต.บ้านป่า และรอคิวเพื่อรอรถน้ำจาก อบต.นำน้ำมาเติมใส่แท็งก์ไฟเบอร์ จากนั้นชาวบ้านจึงทยอยมาเอาน้ำ
“ส่วนระบบประปาหมู่บ้านนั้นมีอยู่ แต่ไม่พอใช้ ต้องจ่ายเป็นเวลา ทีละฟากถนน”