xs
xsm
sm
md
lg

ชาวโนนยางไม่เอาโรงไฟฟ้าจากขยะ เกรงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีรับฟังความเห็นชาวบ้านในการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะ ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านโนนยาง ต.สระสมิง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี - ประชาพิจารณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ชาวบ้านโนนยาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ล้มไม่เป็นท่า ต้องถอยทัพกลับมือเปล่า เหตุชุมชนยืนยันไม่เอาโรงไฟฟ้าจากขยะ เกรงน้ำท่วมจากโรงงานขวางทางน้ำ ผลกระทบจากมลภาวะจากกลิ่นและควันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรงงานทำยางพาราแล้ว ด้าน อบต.ยันชาวบ้านไม่เอาก็สร้างไม่ได้เพราะจะมีปัญหาใหม่ตามมาอีก

วันนี้ (12 ธ.ค. 59) ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านโนนยาง ต.สระสมิง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี บริษัท พลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จำกัด ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นชาวบ้านในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะ พื้นที่ประมาณ 19 ไร่ ซึ่งจะสร้างบริเวณท้ายหมู่บ้านติดกับลำห้วยดวน กำลังผลิตขนาด 4 เมกะวัตต์ โดยใช้ขยะมูลฝอยที่เก็บจากตัวเมืองวันละ 120 ตัน มาเผาให้กลายเป็นแก๊สแล้วผลิตกระแสไฟฟ้ามูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมแสดงความเห็นกว่า 50 คน

นายมนัส สระมูล ผู้ประสานงานด้านวิชาการการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบุว่า โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากประเทศเยอรมนี การเผาไหม้จะไม่มีควัน เพราะไม่อัดอากาศเข้าไปในเตา โรงไฟฟ้าจึงไม่มีปล่องระบายควัน รวมทั้งไม่มีน้ำเสียปล่อยทิ้งจากโรงงาน เพราะมีน้ำจากการผลิตเพียงวันละประมาณ 5,000 ลิตร ซึ่งหลังการบำบัดจะนำกลับไปหมุนเวียนใช้ในโรงงานต่อไป

ส่วนขยะที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงไม่มีการจัดเก็บไว้ในโรงงาน แต่จะหมุนเวียนเข้ามาในแต่ละวัน จึงไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนสิ่งของที่เหลือจากการคัดแยกที่ไม่สามารถเผาไหม้ได้จะมอบให้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี หรือคนในหมู่บ้านนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการโดยไม่คิดมูลค่า และหลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วจะทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีงานทำไม่น้อยกว่า 50 คน มีรายได้จากภาษีการขายไฟฟ้านำมาใช้พัฒนาอาชีพให้คนในชุมชน ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีใช้แล้วที่ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น และอินเดีย ส่วนไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่นำมาใช้และมีโครงการก่อสร้างทั้งสิ้นจำนวน 62 โรงทั่วประเทศ

ด้านนายกนกศักดิ์ ธานี แกนนำชาวบ้านและเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้สอบถามถึงการถมที่ดินที่ต้องสร้างเป็นโรงงาน รวมทั้งระยะห่างของโรงงานที่ตั้งอยู่ห่างชุมชนเพียง 200 เมตร หากถมที่ดินใช้สร้างโรงงานบริเวณนั้นจะปิดกั้นทางน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมชุมชนได้

ทั้งไม่มั่นใจเรื่องมลภาวะทางกลิ่นและเขม่าควัน เพราะปัจจุบันชุมชนได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตยางพาราที่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านอยู่แล้ว จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้สร้างในจุดดังกล่าว หากต้องการสร้างขอให้ขยับห่างจากชุมชนไปอีกไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร และไม่ต้องการให้ตั้งอยู่ใกล้กับลำห้วยดวน เพราะเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ทำเกษตรกรรมของหมู่บ้านด้วย

หลังได้รับคำโต้แย้งจากชาวบ้านที่เข้าร่วมแสดงความเห็น ทางตัวแทนบริษัท พลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จำกัด ได้ขอปิดการประชุม เพื่อนำความเห็นของชาวบ้านไปแจ้งให้ทางบริษัททราบ

นายมนัส สระมูล ผู้ประสานงานด้านวิชาการการก่อสร้างโรงไฟฟ้า กล่าวว่า การมารับฟังความเห็นจากชาวบ้านครั้งนี้ บริษัทยังไม่ได้ตกลงใจจะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้า และหากชาวบ้านมีเหตุผลคัดค้านที่รับฟังได้ทางบริษัทก็ยินดีที่จะไม่สร้าง แต่หากหารือแล้วต้องการให้โรงงานแก้ไขอย่างไร เมื่อแก้ไขแล้วเป็นที่พอใจก็พร้อมที่จะมาสร้างให้ทันที ซึ่งอาจจะต้องมาพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านอีกครั้ง

ขณะที่ดาบตำรวจ ไพโรจน์ เอราวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระสมิง ระบุว่า โรงไฟฟ้าจะสร้างได้หรือสร้างไม่ได้ต้องขึ้นกับชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลสระสมิงยินดีทำตามความต้องการของประชาชน แม้จะเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่เมื่อชุมชนไม่ต้องการให้สร้างคงขัดไม่ได้ และ อบต.ก็จะไม่อนุญาตให้เข้ามาใช้พื้นที่ก่อสร้างแน่นอน เพราะจะกลายเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต


จุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น