xs
xsm
sm
md
lg

“แพร่” ฉลอง 1,188 ปีสร้างบ้านแปงเมืองตลอดปี 59 แถมจัดแก้ชง “คนปีขาล” ด้วย(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - เมืองแพร่เตรียมจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ “1188 ปี เที่ยวแพร่ สนุก สุขไม่รู้จบ” ตลอดปี 59 โรงแรม-ร้านค้าจับมือลดราคาทั้งจังหวัด พร้อมจัดพิธีแก้ปีชงให้ “คนปีขาล” ยาวตั้งแต่ 9 มกราฯ-สิ้นปี



นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้นำคณะทำงานจัดงานฉลองเมืองแพร่ อายุครบ 1,188 ปีในปี 2559 แถลงข่าวที่หน้าอาคารคุ้มเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ถนนไชยบูลย์ อ.เมืองแพร่ เตรียมจัดงาน “1188 ปี เที่ยวแพร่ สนุก สุขไม่รู้จบ” เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองแพร่ ตลอดจนลูกหลานเมืองแพร่ และบรรพชนที่กอบบ้านกู้เมืองตั้งแต่หลวงพญาพลนคร ปฐมกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครมาจนยุคปัจจุบัน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในฐานะเมืองต้องห้ามพลาด และก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

โดยจะจัดงานส่งเสริมเมืองตลอดปี 2559 ทุกโรงแรมในจังหวัดแพร่จะลดค่าที่พักให้ถึง 50% ร้านของที่ระลึก ร้านอาหาร ลด 10% กิจกรรมเริ่มตั้งแต่ต้นปีต้อนรับปีใหม่ จังหวัดแพร่จะจัดสมโภชทำบุญเมืองระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม มีพิธีสืบชะตาเมืองแบบโบราณเสริมบารมีทานที่เมืองแพร่ เปิดให้มีการนมัสการพระธาตุที่มีอายุนับ 1,000 ปี 11 แห่ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว “คนปีขาล” ที่จะต้องมาไหว้พระธาตุต่างๆ ในปีชง ส่วนกิจกรรมแก้ชงปีขาล เสริมบารมีทานที่วัดพระธาตุช่อแฮ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมเป็นต้นไปจนสิ้นปี 2559

นอกจากนั้นยังมีโครงการ “ยกตำนานพระลอ ตำนานรักนิรันดร์เมืองเก่า อ.สอง” ในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ รวมถึงกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2559 โดยเดือนพฤษภาคมเน้นส่งเสริมธรรมชาติสิ่งแวดล้อมชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสธรรมชาติป่าเขาวัฒนธรรมชนเผ่าที่ อ.ลอง อ.วังชิ้น ร่วมปลูกป่าพัฒนาต้นน้ำยมคืนธรรมชาติเพื่อคนทั้งลุ่มน้ำ

“เมืองแพร่ หรือเมืองพลนคร” นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมืองนี้เป็นเมืองเก่าอยู่เดิมแล้ว ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มน้ำยม แนวกำแพงเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปหอยสังข์ ซึ่งดูได้จากแผนที่ในปัจจุบัน จากแนวคันดินสูง 7 เมตร กว้าง 15 เมตร ยาว 4 กม.รอบตัวเมือง ที่จะเห็นเป็นรูปหอยสังข์ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 8 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ กำแพงเมืองและคูเมืองใช้ป้องกันข้าศึก และน้ำหลากจากแม่น้ำยม

จากตำนานวัดหลวงมีเจ้าผู้ครองนครองค์แรก คือ ปู่พญาพล ได้พาชาวไทลื้อ-ไทเขิน อพยพมาจากเชียงแสนไชยะบุรี และเวียงพางคำ ลงมาร่วมกันฟื้นฟูเมืองร้าง เสริมกำแพงให้สูงขึ้น และสร้างบ้านเมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1371 ขนานนามว่า “เมืองพลนคร” ต่อมาขอมเรืองอำนาจ แผ่อิทธิพลเข้ามาเปลี่ยนชื่อเมืองแพร่ให้ว่า “เมืองเวียงโกศัยนคร” ซึ่งแปลว่า “ผ้าแพร” ต่อมาจึงเรียกว่าเมืองแพร่จนปัจจุบัน

เจ้าผู้ครองนครอีกท่านหนึ่งคือ พญาเมืองไจย เป็นนักรบที่ชาญฉลาด สามารถกอบบ้านกู้เมืองจากการรุกรานของพม่าหลายครั้ง จนได้ชื่อว่า “แม่ทัพเอกสามแผ่นดิน” ซึ่งเมืองแพร่มีเจ้าผู้ครองนครสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ราชอาณาจักรไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ถือเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่พระองค์สุดท้าย ต่อมาเปลี่ยนการปกครองโดยมีข้าหลวง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่แทน โดยพระยาไชยบูรณ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่คนแรกของเมืองแพร่

ทั้งนี้ ตามประวัติเมืองแพร่ มีการสถาปนาเมืองขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 1371 ทำให้ในปี พ.ศ. 2559 เมืองแพร่จะมีอายุครบ 1,188 ปี ซึ่งตลอดระยะที่ผ่านมาเมืองแพร่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาอัตลักษณ์ของผู้คน และผังเมือง พร้อมทั้งกำแพงเมือง และวัดหลายแห่งที่สืบทอดมานับ 1,000 ปี ที่ยังมีสิ่งก่อสร้างให้เห็น

โดยเฉพาะผังเมืองรูปหอยสังข์ ที่เห็นได้ชัดเจนทางแผนที่ปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีธรรมชาติป่าเขา ประเพณี และสินค้าที่มีชื่อเสียงมากมาย นับเป็นคุณค่าของชาวเมืองแพร่อย่างมาก






กำลังโหลดความคิดเห็น