ราชบุรี - วัฒนธรรมเมืองโอ่ง ร่วมกับชาวไทยรามัญนครชุมน์ จัดงานสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทย-มอญ
ที่วัดใหญ่นครชุมน์ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นายจรูญ นราคร ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน "สืบทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทย-มอญ" โดยมีนางณิทฐา แสวงทอง รองผู้ว่าราชการราชบุรี นางประนอม คลังทอง วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี และนายสมนึก แม้นจิตต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) นครชุมน์ ให้การต้อนรับ พร้อมประชาชนจำนวนมาก เข้าร่วมการจัดกิจกรรมในครั้งนี้
กิจกรรมภายในงานจัดให้มีการบรรเลงดนตรีไทยปี่พาทย์มอญ การจัดตั้งซุ้มสาธิตทำอาหารและการทำขนมหลายชนิดของชาวมอญ การสาธิตการเล่นสะบ้าและการเล่นของเด็ก และขบวนแห่นาคของชาวมอญ นอกจากนั้นยังจัดให้มีการประกวดหนุ่ม-สาวมอญ เป็นคู่ ซึ่งมีประชาชนจากพื้นที่ใกล้เคียงที่ทราบจำนวนมาก ได้พากันเดินทางมาเที่ยวชมการจัดกิจกรรมครั้งนี้
โดยเฉพาะชาวไทยมอญ ที่เป็นหนุ่ม-สาว ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กๆในตำบลนครชุมน์ จะพากันแต่งกายของตนเองอย่างสวยสดงดงาม ด้วยชุดไทยรามัญในสมัยต่างๆ ทำให้มีสีสันและสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นอย่างมาก
นางประนอม คลังทอง วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดราชบุรี มีชนชาติพันธุ์อาศัยอยู่ 8 ชาติพันธุ์ ประกอบด้วยไทยจีน, ไทยยวน, ไทยลาวเวียง, ไทยเขมร, ไทยทรงดำ, ไทยกระเหรี่ยง, ไทยพื้นถิ่น และไทยมอญ ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานหลายฝ่าย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมของตำบลนครชุมน์ โดยการนำเสนอ อัตลักษณ์ ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-มอญ บ้านนครชุมน์ให้เป็นจุดสนใจแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชม และศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยรามัญ ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
นายสมนึก แม้นจิตต์ นายก อบต.นครชุมน์ กล่าวว่า พื้นที่ตำบลนครชุมน์ ถือว่าเป็นชุมชนมอญ ที่ใหญ่อีกแห่งของประเทศ แม้ว่าชาวบ้านจะได้รับวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามา แต่หนุ่มสาวและคนเฒ่าคนแก่ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมของชาวมอญเอาไว้ เพื่อสืบทอดต่อให้ลูกหลาน อาทิ "ภาษามอญ" ที่ปัจจุบัน ยังใช้เป็นภาษาพูดคุยทักทายกันระหว่างชาวมอญด้วยกัน ซึ่งตนเชื่อว่า แม้ปัจจุบันโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงและมีเทคโนโลยีใหม่ๆตลอดจนการสื่อสารที่ทันสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่และจะต้องอยู่ไปอีกนานก็คือ “วิถีชีวิตของชาวมอญ”ที่นี่นั่นเอง