ชัยนาท - มูลนิธิวังขนาย ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดชัยนาท มอบเสื้อครูยิ้มให้อาสาสมัครดูแลเด็กพิการ 600 คน
วันนี้ (17 ธ.ค.) มูลนิธิวังขนาย ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดชัยนาท จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ดูแลเด็กพิการในชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยมอบเสื้อให้แก่อาสาสมัครดูแลเด็กพิการในจังหวัดชัยนาท หรือครูยิ้ม จำนวน 600 คน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่อาสาสมัครดูแลเด็กพิการที่เสียสละทำงานเพื่อสังคม โดยมี นางจิตต์สุภา สุขเจตนี ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กรและกิจกรรมสังคม มูลนิธิวังขนาย น.ส.ธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิวังขนาย นายอนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท นางพรรณี งามขำ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท และนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดชัยนาท ร่วมกันมอบเสื้อให้ครูยิ้ม พร้อมกับลงพื้นที่ดูการทำงานของครูยิ้ม และเข้าเยี่ยมให้กำลังใจแก่ครอบครัวเด็กพิการซ้ำซ้อน ที่หมู่ 7 ต.นางลือ อ.เมือง จ.ชัยนาท
นางจิตต์สุภา สุขเจตนี ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กรและกิจกรรมสังคม มูลนิธิวังขนาย กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาสุขภาพของประชาชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์ วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยบรรลุนิติภาวะ วัยชรา และผู้พิการ โดยให้ได้เข้าถึงการบริการอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพ และเป็นธรรมนั้น มูลนิธิวังขนาย มีความยินดีที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทางศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดชัยนาท ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ดูแลเด็กพิการในชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนจังหวัดชัยนาท ได้ขอความอนุเคราะห์มายังมูลนิธิวังขนาย ให้จัดทำเสื้อ จำนวน 600 ตัว เพื่อมอบให้แก่อาสาสมัครดูแลเด็กพิการในจังหวัดชัยนาท หรือครูยิ้ม ได้นำไปใส่ลงพื้นที่บริการแก่เด็กพิการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่อาสาสมัครฯ ทุกคนที่เสียสละความสุขส่วนตัว และมีความเต็มใจที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคม ซึ่งนับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยกย่องอย่างมาก
นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า จังหวัดชัยนาท มีเด็กพิการ จำนวน 1,551 คน ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีฐานะยากจนไม่สามารถนำบุตรหลานมารับบริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดชัยนาทได้ จึงได้มีโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ดูแลเด็กพิการในชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนจังหวัดชัยนาทขึ้น มีอาสาสมัครดูแลเด็กพิการ หรือครูยิ้ม หมู่บ้านละ 1 คน ที่จะคอยทำหน้าที่เข้าไปให้กำลังใจแก่ครอบครัวที่มีเด็กพิการ และให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลเด็กพิการที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครอง