xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจภาค 4 จับร้านค้าจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตำรวจภูธรภาค 4 (ศปลป.ภ.4) แถลงข่าวจับกุมผู้จำหน่ายและตรวจยึดเครื่องสำอาง อาหารเสริมและจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ตำรวจชุดปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจภูธรภาค 4 จับกุมตรวจยึดกลุ่มผู้ค้าอาหารปลอม และเครื่องสำอางปลอม มูลค่ากว่า 200,000 บาท อ้างยอมนำมาจำหน่ายเพราะมียอดขายดี

วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตำรวจภูธรภาค 4 (ศปลป.ภ.4) นำโดย พล.ต.ต.ขจรศักดิ์ ปานสาคร รอง ผบช.ภ.4 รองผู้อำนวยการ ศปลป.ภ.4 พร้อมด้วยชุดจับกุม และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมผู้จำหน่าย และตรวจยึดเครื่องสำอาง อาหารเสริม และจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต

พล.ต.ต.ขจรศักดิ์ ปานสาคร รอง ผบช.ภ.4 รองผู้อำนวยการ ศปลป.ภ.กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการนำสินค้าประเภทเครื่องสำอาง อาหารเสริม และยาที่ไม่ได้คุณภาพมาจำหน่ายในตลาดอู้ฟู่ จังหวัดขอนแก่น มีผู้ซื้อไปใช้ได้รับความเสียหายหลายราย และเภสัชกรสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นตรวจสอบยืนยันว่า เป็นของปลอมไม่ได้มาตรฐาน จึงร่วมกันวางแผนจับกุม โดยเข้าตรวจค้นที่ร้านมิสเวิลด์ ร้านบิ้วตี้สกิน และร้านสายป่าน ซึ่งในร้านมีสินค้าประเภทอาหารปลอม เครื่องสำอางปลอมจำนวนมาก ทั้งครีม แป้ง สบู่ อาหารเสริมที่เป็นสินค้าปลอม ไม่มีเลขจดแจ้ง แสดงฉลากไม่ถูกต้อง บางร้านมีมากกว่า 30 รายการ และยังพบว่าบางร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาตด้วย

เครื่องสำอางที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือ สบู่ ระยะหลังทำออกมาหลากหลายยี่ห้อ แต่เติมสารหนักเพื่อให้ฟอกแล้วขาว ซึ่งเป็นสารอันตราย ส่วนอาหารเสริมที่ขายส่วนใหญ่โฆษณาเกินจริง ขณะเดียวกัน ส่วนผสมก็ไม่ได้มาตรฐานเป็นอันตรายมาก ซึ่งเจ้าของร้านสายป่านยอมรับว่าสินค้ารับมาจากโรงงานในกรุงเทพมหานคร มีพนักงานขายของบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่าย เห็นว่าเป็นบริษัทที่ได้มาตรฐานจึงรับมาจำหน่ายโดยไม่ทราบว่าเป็นเลขจดแจ้งปลอม

ส่วนร้านบิวตี้สกิน ให้ข้อมูลว่า รับมาจากสำเพ็ง บางชนิดมี อย.แต่ไม่ได้ติดฉลาก ขณะที่ร้านมิสเวิลด์ ซึ่งเป็นร้านใหญ่มีหลายสาขาในภาคอีสาน มีสินค้าหลากหลาย ขายส่งให้แก่แม่ค้าเพื่อนำไปขายต่อในตลาดทั้งในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง

พล.ต.ต.ขจรศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีหลายยี่ห้อทำโลโก้ให้เข้าใจผิด เช่น ของวุฒิศักดิ์ ยันฮี โดยนำมาขายในราคาถูก ขณะเดียวกัน การใช้สื่อโซเชียลทำให้เกิดการโฆษณา บอกต่อสอบถามหาสถานที่ขายง่ายขึ้น กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้า เมื่อเห็นโฆษณาสรรพคุณทั้งเพื่อผิวขาว ยาลดน้ำหนัก บางร้านรู้ว่าเป็นสินค้าไม่มีเลขจดแจ้ง แต่ต้องยอมนำมาขายเพราะยอดขายดี

ทั้งนี้ อยากฝากเตือนประชาชนให้ศึกษาสินค้าผ่าน อย.โดยให้สังเกตฉลากให้ถูกต้องครบถ้วน หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกร เพราะบางอย่างอันตรายถึงแก่ชีวิต เบื้องต้น ได้ตั้งข้อหาทั้ง 3 ราย ว่าจำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายอาหารปลอม จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม จำหน่ายเครื่องสำอางไม่ได้จดแจ้งและจำหน่ายเครื่องสำอางแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท สำหรับเครื่องสำอางและอาหารเสริมปลอม



กำลังโหลดความคิดเห็น