xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้วเทศกาลล่าปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน วันแรกจับได้ 10 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี -เริ่มแล้วกับเทศกาลล่าปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน ประจำปี 2558 โดยปลาบึกตัวแรกของปีนี้น้ำหนักมากถึง 102 กิโลกรัม โดยหลังจากจับได้นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้ซื้อ และฝังไมโครชิป พร้อมปล่อยกลับคืนสู่เขื่อนแก่งกระจานอีกครั้ง โดยแค่วันแรกจับปลาได้แล้ว 10 ตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คืนวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นคืนวันแรกหลังจากเริ่มเทศกาลล่าปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน พรานล่าปลาบึกสามารถล่าปลาบึกได้แล้วรวม 10 ตัวด้วยกัน โดยแต่ละตัวนั้นจะมีน้ำหนักตั้งแต่ 80-102 กิโลกรัม

สำหรับปีนี้เทศกาลล่าปลาบึกจะกำหนดในช่วงระหว่างวันที่ 6 ธ.ค.58-6 ก.พ.59 ช่วงระยะเวลา 2 เดือน แต่ทั้งนี้ จะมีข้อกำหนดว่าในช่วงเทศกาลล่าปลาบึกหากมีการล่าปลาบึกได้ครบจำนวน 20 ตัวของปีนี้แล้ว จะต้องหยุดการล่าปลาบึกทันที

นายสุชาติ นกวอน กำนันตำบลแก่งกระจาน ที่ปรึกษากลุ่มอาชีพประมงเขื่อนแก่งกระจาน เปิดเผยว่า สำหรับปีนี้มีการกำหนดการล่าปลาบึกไว้ จำนวน 20 ตัว ในระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2558 ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งช่วงข้ามคืนแรกของการล่าปลาบึกที่ผ่านมา สามารถจับปลาบึกได้แล้ว จำนวน 7 ตัวด้วยกัน และวันนี้ล่าได้อีก 3 ตัว รวมเป็น 10 ตัว

ปีนี้นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้เดินทางมาทำการวิจัยพันธุ์ปลาบึกเช่นเคย โดยกำหนดซื้อปลาบึกจากชาวประมงที่จับได้ จำนวน 6 ตัว ที่ขณะนี้มีการฝังไมโครชิป และปล่อยปลาบึกไปแล้ว จำนวน 2 ตัว เพื่อทำการศึกษาวิจัย แต่ปลาบึกตัวแรกที่จับได้ และทำการฝังไมโครชิปตายลงจึงไม่นับ ซึ่งยังเหลือปลาบึกอีก 5 ตัว ที่ต้องทำการฝังไมโครชิปในการปล่อยเพื่อทำการวิจัยในปีนี้

สำหรับในพื้นที่เขื่อนแก่งกระจาน ขณะนี้จะมีพรานนักล่าปลาบึกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญออกวางตาข่ายดักปลามีความถี่อยู่ที่ 50 เซนติเมตร ในจุดที่เคยดัก โดยในช่วงระยะเวลา 2 เดือน หากมีการจับปลาบึกได้ครบ 20 ตัว จะต้องหยุดการจับทันที และหากครบกำหนดวันที่กำหนดแต่ยังจับปลาได้ไม่ครบทั้ง 20 ตัว ก็จะต้องหยุดจับปลาบึกเช่นเดียวกัน

สำหรับมาตรการการจับปลาบึกนั้นขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของน้ำ ที่ปีไหนมีน้ำน้อยจะทำให้มีพื้นที่จับแคบลง โดยแต่ละปีก็จะมีมาตรการที่เปลี่ยนแปลงกันไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของน้ำ สำหรับปลาบึกที่จับได้จะมีน้ำหนักตัวใหญ่สุดอยู่ที่กว่า 100 กิโลกรัม และต่ำสุดอยู่ที่ 70-80 กิโลกรัม

เมื่อจับได้ชาวบ้านก็จะขายต่อให้แก่แม่ค้าในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท อีกทั้งปลาบึกที่จับได้เมื่อมีการซื้อขายจะต้องมีการเสียค่าบำรุงจากทั้งคนจับ และคนซื้อคนละ 250 บาท เพื่อนำเงินเข้ากลุ่มในการนำไปซื้อพันธุ์ปลาบึกมาปล่อยในเขื่อนแก่งกระจาน เพื่อให้เจริญเติบโตต่อไป เนื่องจากปลาบึกเขื่อนแก่งกระจานไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น