ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และผู้แทนเครือซีพีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน นำร่อง 3 อำเภอ ได้แก่ แม่แจ่ม เชียงดาวและสะเมิง คุมเข้มการเผาวัสดุเหลือใช้จากการปลูกข้าวโพดให้เป็นไปตามข้อกำหนดและหลักวิชาการ
วันนี้ (30 พ.ย. 58) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิน ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร (ข้าวโพด) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โปรดิวส์ จำกัด เครือซีพี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน โดยมี นายพุฒิพงศ์ สิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จะมีการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ คือ อำเภอแม่แจ่ม อำเภอสะเมิง และอำเภอเชียงดาว ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบจุดความร้อน (Hotspot) มากกว่าพื้นที่อื่น โดยจะแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 3 โซน คือ โซนป่าไม้ โซนการเกษตร และโซนชุมชน และให้มีการวางแผนการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ระหว่างเดือนธันวาคม 2558-เมษายน 2559 รวมระยะเวลา 20 สัปดาห์
โดยในแต่ละพื้นที่จะมีการดำเนินงานในด้านต่างๆ เช่น การให้ความรู้ด้านวิชาการในเรื่องการใช้ประโยชน์ทดแทน การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงการบังคับใช้กฎหมายตามประกาศของจังหวัด การติดตามประเมินผล การขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่เพื่อสอดส่องดูแลไม่ให้มีการเผาวัสดุหรือเผาป่าในพื้นที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังได้มีการจัดทำตารางเวลาในการดำเนินมาตรการลดวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรตามหลักวิชาการและการทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่า เพื่อแจ้งให้ทั้งอำเภอทุกอำเภอดำเนินการเพื่อลดปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้เป็นการวางมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์หมอกควันอย่างเข้มงวด ทั้งการเตรียมการป้องกันก่อนเกิดเหตุและการแก้ไขขณะเกิดปัญหา
สำหรับทางเครือซีพี จะให้ความร่วมมือกับทางจังหวัด โดยเฉพาะการแจ้งให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนดที่ตกลงกับทางเครือซีพีและดำเนินการตามที่จังหวัดขอความร่วมมือ เพื่อให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกร และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่อย่างยั่งยืน