บุรีรัมย์ - ธ.ก.ส.บุรีรัมย์ปล่อยสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ช่วยเหลือชาวนาที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยขณะนี้ราคารับซื้อตามท้องตลาดอยู่ที่ กก.ละ 8-9 บาท ตั้งเป้ามีเกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 134,000 ตัน คาดใช้วงเงินสินเชื่อกว่า 1,600 ล้านบาท
วันนี้ (25 พ.ย.) นายวิทยา จันทร์ฉลอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย นายจักรดุล ศรีสุวรมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดบุรีรัมย์ นายวันชัย ทิพย์อักษร เกษตรจังหวัด และนายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัด ได้ร่วมกันแถลงข่าวเดินหน้าโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ
โดยขณะนี้ราคารับซื้อตามท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 8-9 บาท หรือตันละ 8,000-9,000 บาท ซึ่งไม่อยู่ในจุดคุ้มทุน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีดังกล่าว ทาง ธ.ก.ส.จะจ่ายสินเชื่อให้รายละไม่เกิน 300,000 บาท โดยใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเป็นหลักประกัน
ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อที่เกษตรกรจะได้รับเป็นไปตามคุณภาพข้าวของแต่ละรายดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิชนิดสีได้ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไป วงเงินสินเชื่อ 13,500 บาท, ชนิดต้นข้าว 31-35 กรัม วงเงินสินเชื่อ 13,300 บาท, ต้นข้าว 26-30 กรัม วงเงินสินเชื่อ 13,100 บาท และต้นข้าว 20-25 กรัม วงเงินสินเชื่อ 12,900 บาท แต่หากต้นข้าวต่ำกว่า 20 กรัม ไม่รับเข้าร่วมโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรนำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 134,000 ตัน ใช้วงเงินสินเชื่อกว่า 1,670 ล้านบาท
ขณะที่ทั้งจังหวัดมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 2,900,000 ไร่ คาดจะได้ผลผลิต 1,100,000 ตัน ออกสู่ตลาดประมาณ 800,000 ตัน ที่เหลือเก็บไว้บริโภค และเป็นพันธุ์เพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป
นอกจากนั้นยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 โดยให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจำหน่ายและการแปรรูป กำหนดวงเงินกู้กับสถาบันเกษตรกรตามศักยภาพไม่เกินแห่งละ 300 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
นายวิทยา จันทร์ฉลอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59 มียุ้งฉางที่แข็งแรงเป็นของตนเองและสามารถเก็บข้าวเปลือกได้ตลอดระยะเวลาของโครงการ ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเก็บรักษาข้าวไว้นานกว่า 30 วัน จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวอีกตันละ 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม หากสิ้นสุดโครงการในวันที่ 28 ก.พ.แล้ว หากขายได้ราคาสูงกว่าในโครงการส่วนต่างๆ จะเป็นของเกษตรกร แต่หากขายได้ราคาต่ำกว่าโครงการเกษตรกรจะต้องรับภาระส่วนต่างเองเช่นกัน
ขณะที่ นายสำราญ บุญหนุน เกษตรกร ต.ร่อนทอง อ.สตึก ยอมรับว่า ปีนี้ราคาข้าวตกต่ำมาก หากขายสดจะได้แค่กิโลกรัมละ 8-9 บาท แต่หากตากแห้งแล้วจะได้กิโลกรัมละ 9-10 บาท ซึ่งไม่คุ้มทุน เมื่อ ธ.ก.ส.มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว เชื่อว่าน่าจะเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรสามารถชะลอขายข้าว และนำออกมาขายในช่วงที่ราคาสูงกว่านี้ได้ แต่หากเป็นไปได้อยากให้ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 14-15 บาท จึงจะคุ้มทุน