xs
xsm
sm
md
lg

หลบคลื่น นทท.! อช.ทุ่งแสลงหลวง เปิด “ทุ่งโนนสน” รับคนแบกเป้ เดินเท้ากอดทะเลหมอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ชวนคนหลบคลื่น นทท. แห่เที่ยวยอดดอยแหล่งท่องเที่ยวหลัก อช.ทุ่งแสลงหลวง เปิดเส้นทางแบกเป้-เดินเท้าสัมผัสทะเลหมอกกลาง “ทุ่งโนนสน” ทุ่งหญ้าสะวันนาเมืองไทยได้อีกครั้ง แต่จำนวนครั้งละไม่เกิน 40 คน ป้องกันระบบนิเวศเสียหาย

วันนี้ (25 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางกระแสคลื่นนักท่องเที่ยวแห่สัมผัสทะเลหมอกบนยอดเขาแหล่งท่องเที่ยวหลัก จนกลายเป็นการแย่งกันกิน แย่งกันเที่ยวอย่างที่เกิดขึ้นต่อ “ภูทับเบิก” ในช่วงวันหยุดยาวนี้ ล่าสุด มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะสะพายเป้-เดินเท้าแบบสบายๆ ขึ้นไปสัมผัสทะเลหมอกบน “ทุ่งโนนสน” ที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสความงามของธรรมชาติได้แล้ว หลังจากที่ปิดเส้นทางเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักท่องเที่ยวเหยียบดอกไม้ตามพื้นเสียหาย

โดยเป้าหมายแรกคือ หน่วย สล.12 บ้านรักไทย อ.เนินมะปราง จ. พิษณุโลก แล้วเดินทางด้วยรถยนต์ 8 กม. ต่อด้วยเดินเท้าอีก 8 กม. ใช้ระยะเวลา 4-6 ชม.ถือว่าระยะสั้นกว่า หากใช้เส้นทางปกติที่นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นทางฝั่งบ้านหนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งขับรถยนต์ 16 กม.และเดินเท้าอีก 16 กม.

นักท่องเที่ยวจะพบสภาพป่าที่สมบูรณ์ตลอดเส้นทางธรรมชาติ อากาศเย็นสบายๆ อุณหภูมิ 16 องศาเซลเซียส บนอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง รวมทั้งทุ่งดอกไม้ที่สมบูรณ์และสวยงาม ติด 1 ใน 10 ของประเทศไทยบริเวณทุ่งโนนสน เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร ตามลักษณะ “ทุ่งหญ้าสะวันนา” มีพันธุ์ไม้กว่า 50 ชนิด เช่น ดุสิตา, เอื้องม้าวิ่ง, กระดุมเงิน, กระดุมทอง, กุหลาบแดง, เอื้องนวลจันทร์, ยี่โถปีนัง, หงอนนาค, หม้อข้าวหม้อแกงลิง, หยาดน้ำค้าง ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้ คือ “สนสามใบ”ที่ขึ้นเต็มบนลานท้องทุ่ง ท่ามกลางหมอกทึบกลางป่าทุ่งโนนสน

นายประเสริฐ ดีแก้ว หัวหน้าหน่วยรักไท (สล.12) อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินป่าชมดอกไม้ทุ่งโนนสน แล้วเหยียบดอกไม้ตามพื้นดิน โขดหินเสียหาย ทางอุทยานฯ จึงปิดเส้นทางนี้ไป 1 ปี กระทั่งปีนี้จึงเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปได้ แต่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นไปครั้งละไม่ควรเกิน 40 คน เพื่อควบคุมการขับถ่ายของนักท่องเที่ยวด้วย เพราะเส้นทางไปทุ่งโนนสน ณ บ้านรักไทย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ต้องมีลูกหาบ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้คอยบริการให้นักท่องเที่ยว







กำลังโหลดความคิดเห็น