ลำปาง - สัตวแพทย์ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยผ่าตัดเอามดลูกช้างที่ทะลักออกมากลับเข้าที่ได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับประกาศความสำเร็จในการให้เลือดช้างระหว่างผ่าตัด ถือเป็นครั้งแรกของโลก
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปางแจ้งว่า ที่โรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นายสัตวแพทย์ สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าโรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เผยถึงการผ่าตัดมดลูกช้างพังโม่ดี เพศเมีย อายุ 18 ปี ช้างจาก อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่มดลูกภายในท้องช้างทะลักออกมาจากช่องระบบสืบพันธุ์ หลังจากคลอดลูกช้างเพศผู้ออกมา
แต่หลังจากคลอดลูกช้างได้ประมาณ 1 เดือนแล้วเจ้าของช้างได้นำช้างไปเดินป่า โดยเดินระยะทางไกลบนเขาถึง 2 ลูก จนทำให้มดลูกช้างทะลักออกมา เจ้าของช้างก็รีบนำตัวมารักษาที่ จ.ลำปางอย่างเร่งด่วน
สำหรับการผ่าตัดในครั้งนี้ทางคณะสัตวแพทย์โรงพยาบาลช้างได้ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวม 18 คน ใช้ระยะเวลา 5 ชั่วโมงในการผ่าตัดมดลูกแม่ช้างเชือกนี้ โดยพบว่ามดลูกที่ทะลักออกมานั้นเกิดการติดเชื้อและเน่าบางส่วนแล้ว ทางคณะสัตวแพทย์จึงได้ผ่าตัดดันมดลูกกลับเข้าไปที่เดิมก่อน เนื่องจากมดลูกช้างถือว่าเป็นอวัยวะสำคัญของช้างตัวเมีย ไม่สามารถที่จะทำการตัดออกได้เหมือนสัตว์เล็กชนิดอื่น เช่น สุนัข หรือแมว เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่มาก จึงไม่สามารถที่จะตัดทิ้งไปได้
ผลการผ่าตัดเบื้องต้นช้างมีอาการที่ดีขึ้น กินอาหาร และน้ำได้ดี ระบบขับถ่ายเป็นปกติ แต่สิ่งที่เป็นห่วงหลังจากนี้คือ การควบคุมการติดเชื้อของแม่ช้างหลังผ่าตัด ซึ่งช้างยังคงไม่ปลอดภัยเพราะเสี่ยงเชื้อลุกลามหากเชื้อเข้ากระแสเลือดก็อาจเสียชีวิตได้ จึงต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ พร้อมทั้งติดตามอาการ และดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด
นายสัตวแพทย์ สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าโรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ยังกล่าวอีกว่า ในการผ่าตัดครั้งนี้ทางคณะสัตวแพทย์ที่ร่วมกันผ่าตัดถือว่าประสบความสำเร็จในการให้เลือดช้างในระหว่างผ่าตัดรักษาที่จะต้องเสียเลือดมาก ถือเป็นโครงการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีการศึกษาการให้เลือดแก่ช้างเหมือนกับการให้เลือดแก่คนในระหว่างผ่าตัด จึงนับว่าเป็นครั้งแรกของโลก และในประเทศไทยที่มีการให้เลือดช้างในครั้งนี้
สำหรับเลือดช้างที่นำมาเติมให้แม่ช้างเชือกนี้มาจากช้างพลายสีดอใหญ่ เพศผู้ ช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ซึ่งเกล็ดเลือดของช้างทั้งสองเชือกสามารถเข้ากันได้ดี จึงสามารถใช้เลือดเติมเข้าไปให้แม่ช้างในช่วงผ่าตัดรักษาได้อย่างปลอดภัย