ลำปาง - เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พร้อมผู้นำ และชาวบ้าน ร่วมบุกป่าพิสูจน์ “เจ้าปีหลวง หรือเจ้าปีรัชนี” ใหญ่ที่สุดในโลก กลางป่าสงวนแห่งชาตป่าแม่ปราบ วัดขนาดลำต้นได้ถึง 8.60 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.70 เมตร สูงใหญ่แบบไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน แถมมีเฟิร์นเกาะเต็มตั้งแต่โคน-ปลายยอด
วันนี้ (4 ต.ค.) นายจเรศักดิ์ นันตวงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) กรมป่าไม้ พร้อมเจ้าหน้าที่สายตรวจปราบปรามว่าด้วยการกระทำผิดกฏหมายว่าด้วยการป่าไม้ สายที่ 1 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง), กำลังหน่วยป้องกันและรักษาป่าในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทั้งหมดร่วม 100 นาย ร่วมกับกำนันตำบลแม่ถอด ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่เตี้ย เยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่เตี๊ยะ เดินเท้าเข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าหลังหมู่บ้านแม่เตี๊ยะ ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปราบ
ทั้งหมดใช้เวลาในการเดินเท้าลัดเลาะไปตามลำห้วยและทางเดินเท้ากว่า 2 ชั่วโมง ระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร เพื่อตรวจสอบต้นจำปีหลวงคู่ หรือจำปีรัชนี ที่คาดว่าจะมีเพียงต้นเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกพร้อมร่วมกันพิธีบวชป่าต้นไม้ใหญ่จำนวนกว่า 100 ต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อไปถึงพบไม้จำปีหลวง หรือจำปีรัชนี ยืนคู่กันสองต้น โดยต้นที่ใหญ่ที่สุด วัดขนาดความโตระดับอกมีเส้นรอบวง 8.60 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.70 เมตร ซึ่งไม่เคยพบเห็นที่ไหนมีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน คาดว่าเป็นต้นจำปีหลวงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนอีกต้นที่เคียงคู่กันนั้น มีขนาดลดลั่นลงไป
นายจเรศักดิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยนำใบไม้ของต้นจำปีหลวง ต้นนี้ส่งไปให้ ดร.สมราน สุดดี นักอนุกรมวิธานพืช ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ ตรวจสอบแล้วและยืนยันว่าใบไม้ดังกล่าวเป็นของต้นจำปีหลวงซึ่งทั่วโลกจะพบเฉพาะที่ภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น
และตามที่ได้มีการศึกษาและบันทึกไว้โดยนักพฤกษศาสตร์ เส้นผ่านศูนย์กลางต้นจำปี ที่ระดับอกจะไม่เกิน 1.5 เมตร แต่สำหรับต้นจำปีหลวง ต้นนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหรือเส้นรอบวงวัดได้ถึง 8.60 ม. ซึ่งไม่เคยพบที่ไหนมีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน คาดว่า เป็นต้นจำปีหลวง ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้จะต้องหาวิธีอนุรักษ์และขยายพันธุ์ รวมถึงพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติของจังหวัดลำปางต่อไป เนื่องจากพบว่ามีต้นเฟิร์นเกาะตั้งแต่ลำต้นไปจนถึงยอดปลายของต้นจำปีหลวง ที่มีความสูงหลายสิบเมตร แบบไม่เคยพบมาก่อนในสภาพป่าแบบนี้ อีกทั้งพื้นที่ป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นตะเคียนทอง ต้นไม้อื่นๆ หลากหลายชนิด เรียงรายเต็มฝืนป่าแต่ละต้นอายุหลายร้อยปี ขึ้นสูงตระหง่านเกือบเต็มพื้นที่
ด้านนายณภัทร สองเมือง ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่เตี๊ยะ กล่าวว่า ผืนป่าท้ายหมู่บ้านแห่งนี้มีความสมบูรณ์มาก มีต้นไม้ขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ที่เป็นป่าชุมชุนของหมู่บ้าน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด รวมทั้งมีของป่าหลากหลายที่ชาวบ้านต่างใช้ในการหาเลี้ยงดำรงชีวิต
แต่การเข้าป่าจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ให้ล่าสัตว์ป่าไม่ว่าชนิดไหน ให้หาของป่า เช่น เห็ด พืชผักตามธรรมชาติต่างๆ ส่วนการตัดไม้ทำลายป่านั้นห้ามอย่างเด็ดขาด หากชาวบ้านที่ยากจนและต้องการไม้มาซ่อมแซมบ้านก็จะมีการประชุมหารือ และประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการหาไม้มาทดแทนในการช่วยเหลือซ่อมแซม
ส่วนต้นจำปีนั้น ชาวบ้านเห็นมาแต่โบราณ แต่ไม่รู้ว่าเป็นต้นไม้ชนิดไหน เพียงแค่เห็นว่ามีขนาดใหญ่โตก็ร่วมใจกันอนุรักษ์มาตั้งแต่นั้นมาจนเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจพบดังกล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ต้นจำปีหลวง หรือจำปีรัชนี เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 35 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางโดยทั่วไปพบระหว่าง 1.5-2 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาลแดง แตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย และพบเฉพาะในภาคเหนือ ตามป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,000-1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงาและปลูกเป็นไม้ดอกหอมได้ และยังใช้ปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำทางภาคเหนือด้วย โดยจะออกดอกสีขาวหรือสีขาวแกมเหลือง ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ออกดอกบานพร้อมกันเต็มต้นและส่งกลิ่นหอมไปทั่ว ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเก็บเมล็ดคือ ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
สำหรับชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นพระเกียรติแก่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ต้นสกุลรัชนี ผู้ทรงกำกับดูแลกิจการของกองตรวจพันธุ์รุกขชาติ ในยุคบุกเบิกงานสำรวจพรรณไม้ของประเทศไทย