xs
xsm
sm
md
lg

แฉทุจริตสอบบรรจุพนักงาน 31 อบต.มหาสารคาม คาดวงเงินสูงกว่า 400 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล
มหาสารคาม - รองผู้ว่าฯ มหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนบรรจุพนักงาน 31 อบต.มหาสารคาม พบทุจริตครั้งใหญ่ทำเป็นขบวนการ อ้างผู้มีอำนาจสามารถช่วยเหลือผู้สอบแข่งขันได้ ทั้งเรียกรับเงินจากญาติผู้สอบ คาดวงเงินมหาศาลสูงกว่า 400 ล้านบาท เบื้องต้น เพิกถอนบรรจุพนักงานของ 19 อบต.แล้ว ส่วนการบรรจุอีก 12 อบต.ให้คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบลพิจาราณา

จากกรณีปัญหาร้องเรียนตรวจสอบพบการทุจริตการสอบแข่งขันบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบลของ จ.มหาสารคาม จำนวน 31 แห่ง โดยใช้สนามสอบ 2 แห่ง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ จัดสอบ 19 อบต. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสอบ จำนวน 12 อบต. จนเป็นเหตุให้มีการเพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งไปแล้วบางส่วน

จังหวัดมหาสารคาม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น ผลปรากฏว่า พบหลักฐานมีการทุจริตทั้ง 2 สนาม ต่อมา ทาง ก.อบต.กลาง ได้สั่งเพิกถอนการบรรจุพนักงานของ 19 อบต.ที่สอบโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ในปี 2557 และเสนอเรื่อง 12 อบต.ที่จัดสอบโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปยัง ก.อบต.กลาง ให้ยกเลิกผลการสอบปี 2556 และปี 2557

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.อบต กลาง จะเพิกถอนการบรรจุพนักงานของ 12 อบต.ที่จัดสอบโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.ขอนแก่น หรือไม่ นอกจากนี้ นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ยังนำเรื่องนี้เสนอไปยัง ป.ป.ช.พิจารณาด้วย

นายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐาน โดยหลักฐานสำคัญคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ได้ขอคะแนนผลสอบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ มาตรวจสอบ และผลประกาศของ อบต. 19 แห่ง ปรากฏว่า ผลคะแนนไม่ตรงกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากคะแนนของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ มีผู้สอบผ่านเกณฑ์ 60 เปอร์เซ็นต์เพียง 1 คนเท่านั้น แต่ อบต.กลับแก้ผลคะแนนให้ผู้สอบไม่ผ่าน กลายเป็นผู้สอบได้ขึ้นบัญชีไว้กว่า 422 คนว่าสอบผ่าน ถือเป็นหลักฐานที่มัดแน่นจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ที่สำคัญการทุจริตครั้งนี้จัดทำเป็นขบวนการใหญ่ โดยมีคนอ้างว่า สามารถติดต่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ช่วยได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นเพียงแอบอ้างหาผลประโยชน์เท่านั้น

“ส่วนกรณีการสอบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการตรวจกระดาษข้อสอบพบพิรุธมาก เช่น รอยลบแก้ไขข้อสอบ ที่สำคัญข้อที่ถูกแก้ยังตอบถูกหมดด้วย และข้อสอบจากข้อ 1-44 ตอบถูกหมด บางคนตอบถูกตั้งแต่ข้อ 50-90 ส่วนข้อผิดก็จะผิดเหมือนกัน

ขณะที่ผลจากศูนย์บริการการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่า ตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ มีผู้สอบผ่านเพียง 4 คนเท่านั้น แต่กลับขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านถึง 236 คน กรณีนี้ทุจริตโดยนำผลคะแนนจากคอมพิวเตอร์ทิ้ง แล้วเขียนปลอมคะแนนขึ้นใหม่ ใส่ชื่อบุคคลตามใบสั่ง ข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่ ป.ป.ช.แล้ว” นายไกรสร กล่าวและว่า

ทั้งนี้ แก๊งผู้กระทำผิดมักแอบอ้างผู้ใหญ่ว่า สามารถช่วยเข้ารับราชการได้โดยเรียกเงินค่าตอบแทนรายละหลายแสนบาทเป็นค่าวิ่งเต้น ประเมินว่า วงเงินผลประโยชน์ที่เรียกรับจากผู้เข้าสอบแข่งขันไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ถือเป็นภัยต่อสังคม เพราะบรรดาผู้ปกครองเด็กก็อยากให้บุตรหลานมีงานทำ ไปกู้ยืม หรือนำหลักทรัพย์ไปจำนองให้ได้เงินมา ในส่วนของผู้สอบได้ก็จะเยียวยาโดยประกาศผลตามความเป็นจริง และบรรจุให้ต่อไป แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น