xs
xsm
sm
md
lg

“หมอต้นไม้” ยื่นข้อเสนอแนะแนวทางจัดการต้นไม้ใหญ่ในเมือง-“ทัศนัย”รับพร้อมตั้งงบ3.5ล้านหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “หมอต้นไม้” และเครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม ยื่นข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการต้นไม้ใหญ่ในเขตเมืองให้กับมือนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หลังพบต้นไม้ใหญ่จำนวนมากตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะยืนต้นตายจากสารพัดต้นเหตุ แนะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง เร่งทำการสำรวจขึ้นทะเบียนและวางแผนการดูแลรักษาระยะยาว เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้และพื้นที่สีเขียว ขณะที่ “ทัศนัย” เผยจัดสรรงบประมาณ 3.5 ล้านบาท สนับสนุนแล้ว เริ่มทำงาน 1 ต.ค.58

วันนี้ (7 ก.ย.58) ที่ริมคูเมืองเชียงใหม่ บริเวณจุดกลับรถหน้าโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะหัวหน้าทีมหมอต้นไม้อาสา

พร้อมด้วยเครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าการรักษาต้นฉำฉาขนาดใหญ่อายุหลายสิบปี จากการถูกหนอนด้วงปีกแข็งเจาะกินท่อน้ำเลี้ยงและลำต้นติดเชื้อ จนเกือบจะยืนต้นตาย กระทั่งได้รับการช่วยเหลือจากหมอต้นไม้อาสา จนพ้นภาวะวิกฤติและกำลังอยู่ในช่วงบำรุงรักษาให้กลับมามีสภาพแข็งแรง

ทั้งนี้ การเข้ารักษาต้นฉำฉาดังกล่าวนี้ สืบเนื่องมาจากการที่โครงการหมอต้นไม้อาสา เครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม และโครงการบิ๊กทรีอินทาวน์ ได้รับการประสานงานจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้ทำการสำรวจสภาพต้นไม้ใหญ่รอบคูเมือง ซึ่งเบื้องต้นพบต้นไม้ใหญ่หลายต้น ส่วนใหญ่เป็นต้นฉำฉาที่อยู่ในภาวะวิกฤตและอาการน่าเป็นห่วงว่าอาจจะยืนต้นตาย เหมือนต้นฉำฉาขนาดใหญ่บริเวณประตูสวนดอกจนจำเป็นต้องตัดทิ้ง หากไม่รีบทำการฟื้นฟูรักษา ทั้งปัญหารากเน่า โคนต้นถูกซีเมนต์กดทับ แมลงเจาะ กิ่งแห้ง เป็นต้น

โดยในโอกาสนี้ทางโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ ที่ดำเนินงานโดยเครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม, หมอต้นไม้อาสา ม.แม่โจ้ และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอแนวทางการจัดการต้นไม้ใหญ่ต่อเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้กับนายทัศนัย ด้วย

สำหรับแนวทางได้แก่ 1.ให้มีการสำรวจสภาพและสุขภาพของต้นไม้ใหญ่ทั้งหมดเพื่อวางแผนการฟื้นฟูบำรุงรักษาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างเร่งด่วน,2.ให้กรณีที่ต้องตัดต้นไม้ใหญ่ ให้มีผู้เชี่ยวชาญ ร่วมวินิจฉัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อการดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการ และ 3.ให้มีการตั้งคณะทำงานที่มาจากชุมชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ร่วมกันวางแผนและดำเนินงานจัดการต้นไม้ใหญ่ของเมือง ทั้งวางแผนงาน จัดสรรงบประมาณ อบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ทักษะ และมีเครื่องมือที่เหมาะสม รวดเร็ว เพียงพอ เพื่อความสวยงามของบ้านเมืองและความปลอดภัยทั้งต่อต้นไม้ใหญ่และประชาชน

อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะหัวหน้าทีมหมอต้นไม้อาสา กล่าวว่า จากการสำรวจรวบรวมข้อมูลต้นไม้ใหญ่โดยร่วมกับชุมชนที่เป็นเครือข่ายนำร่อง ได้แก่ ชุมชนเชียงมั่น,ชุมชนป้านปิง,ชุมชนพันอ้น,ชุมชนพวกแต้ม และชุมชนนันทาราม พบว่าในพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ มีต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปีไปจนถึงร้อยปีกว่า 500 ต้น

ในจำนวนนี้พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น โคนต้นถูกซีเมนต์หรือยางมะตอยบดทับบริเวณโคนต้น,มีกาฝาก หรือแมลงเจาะกินทำลายเนื้อไม้ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้ให้การช่วยเหลือรักษาไปจำนวนหนึ่งแล้วอย่างเต็มที่ตามกำลังและข้อจำกัด เพื่อพยายามอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวของเมืองเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการจะอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวของเมืองเชียงใหม่เอาไว้ให้ได้มากที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในกรณีนี้คือเทศบาลนครเชียงใหม่ ควรจะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบดูและบริหารจัดการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่และพื้นที่เขียวของเมืองโดยตรง เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลชัดเจน

โดยที่ทางทีมหมอต้นไม้อาสา และเครือข่ายพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงานโดยเฉพาะทางด้านวิชาการและองค์ความรู้ต่างๆ อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เบื้องต้นเห็นว่าแนวทางที่ควรจะต้องดำเนินการก็คือ การสำรวจ และขึ้นทะเบียนพร้อมรายละเอียดต่างๆ ของต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ทั้งหมด จากนั้นวางแผนรักษา ซึ่งเชื่อว่าหากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว จะสามารถช่วยให้ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่สามารถยืนต้นอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี โดยที่ไม่ต้องตัดโค่นทิ้งหรือยืนต้นตายไปอย่างแน่เสียดาย

ขณะที่นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ยังขาดแคลนบุคลากรที่ขาดความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่รอบคูเมืองและในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหลังจากที่ได้รับทราบสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว

ล่าสุดทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 3.5 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานและรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยมีการจัดตั้งทีมงานที่มีความรู้เข้ามาทำงาน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58 นี้เป็นต้นไป เชื่อว่าน่าจะทำให้เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้นในการรักษาต้นไม้ใหญ่ของเมืองเอาไว้ได้ พร้อมๆ กับมีการปลูกต้นไม้ใหม่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเป็นการรักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองได้อย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น