นครราชสีมา - ระดมเจ้าหน้าที่ออกพ่นหมอกควัน-แจกทรายอะเบทในหมู่บ้าน-ชุมชนเขต อ.เมืองนครราชสีมา หลังพบยุงลายระบาดหนัก หมู่บ้านเดียวป่วยแล้ว 6 ราย ขณะที่สถานการณ์ระบาด 4 จังหวัดอีสานใต้พบป่วยพุ่งกว่า 5,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย กำชับเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจประชาชนร่วมป้องกัน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะนำโรค
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่บ้านพะเนา ต.พะเนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อบต.พะเนา เข้าฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย พร้อมให้ความรู้การกำจัดยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก และแจกทรายอะเบท หลังพบการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่สูง โดยพบผู้ป่วยหมู่บ้านเดียวสูงถึง 6 ราย มีทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (สคร.5) นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตบริการสุขภาพที่ 9 (จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.ว่า พบผู้ป่วยจำนวน 5,110 ราย ตาย 3 ราย ประกอบด้วยจังหวัดบุรีรัมย์พบผู้ป่วย 722 ราย จังหวัดชัยภูมิพบผู้ป่วย 1,175 ราย จังหวัดนครราชสีมาพบผู้ป่วย 2,474 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 รายจังหวัดสุรินทร์พบผู้ป่วย 739 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
สำหรับอาการผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก คือ หลังจากถูกยุงมีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย บางรายมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาออก ผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากไข้ลดลง โดยจะเริ่มซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบา หมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ โดยยุงตัวเมียเท่านั้นที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก
ส่วนใหญ่ยุงลายจะกัดคนในเวลากลางวัน เว้นแต่กลางวันไม่มีเหยื่อให้กิน ในที่ที่มีแสงไฟกลางคืนก็จะออกกินเลือดได้เช่นกัน ยุงตัวเมียมีอายุไขเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 วัน ไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4-6 ครั้งตลอดช่วงชีวิต ยุงลายตัวเมียหนึ่งตัวจึงสามารถผลิตลูกยุงลายได้ราว 500 ตัว
นายแพทย์ธีรวัฒน์กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกพื้นที่ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ออกให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันอย่าให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือน “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” คือเก็บน้ำให้มิดชิด เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เก็บขยะเศษอาหารให้หมด ดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเก็บภาชนะรอบบ้าน เช่น ยางรถยนต์ กระป๋อง ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ นอนในมุ้งหรือทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง
ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ พบจุดเลือดที่ผิวหนัง หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออกให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะผู้ป่วยอาจช็อกและเสียชีวิตได้