อุบลราชธานี/เลย - แม่น้ำโขงอุบลราชธานี ปรับตัวสูงขึ้นจากอิทธิพลฝนตก และน้ำเหนือไหลหลากลงมาสมทบ ทำให้ชาวประมงแม่น้ำจับปลามาวางขายได้จำนวนมาก ขณะที่อุตุนิยมวิทยาเลย เตือนประชาชนบริเวณจังหวัด หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสม และฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในระยะนี้
ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่า ที่อำเภอเขมราฐ ระดับแม่น้ำโขงเริ่มสูงขึ้นจากอิทธิพลมีฝนตกในพื้นที่ และเป็นจุดรับน้ำเหนือที่ไหลหลากมาจากจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 6 เมตร จากความสูง 24 เมตร
ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวได้ส่งผลดีต่อตลาดค้าปลาเศรษฐกิจของแม่น้ำโขง ทั้งปลาเนื้ออ่อน ปลาอีตู๋(ปลากาดำ) ปลาคัง ปลาหมอ ปลาโจก ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่มีรสชาติอร่อย และมีราคาแพงกิโลกรัมละ 150-400 บาท
โดยแม่ค้าปลาระบุว่า ช่วงนี้มีปลาเศรษฐกิจถูกชาวประมงจับจากแม่น้ำโขงเข้ามาวางขายในตลาดมากขึ้น หลังจากตลาดค้าปลาซบเซามานาน เพราะปลาแม่น้ำจะถูกจับได้มากในช่วงน้ำหลากของทุกปี
ขณะที่ นางจันทนา เลขะวัฒนะ ผู้อำนวยการศูนย์อุทกศาสตร์ เชียงคาน จังหวัดเลย เปิดเผยว่า ระดับน้ำที่เชียงคานวัดเมื่อเวลา 07.00 น วันนี้ (2 ส.ค.) ระดับน้ำวัดได้ที่ 10.16 เมตร ลดลงจากเมื่อวาน 42 เชนติเมตร
ระดับน้ำจะสูง-ต่ำในระยะนี้ซึ่งอาจจะมีผลมาจากปริมาณฝนที่ตกในแต่ละวัน ช่วงบนทางทิศเหนือของประเทศ และฝั่ง สปป.ลาว โดยส่วนต่างของระดับน้ำโขงที่ 4 เมตรในขณะนี้ ยังต้องจับตาเฝ้าระวัง หากมีปริมาณน้ำโขงสูงขึ้นใกล้ถึงระดับ 15 เมตร ก็จะมีการเตือนไปยังประชาชนที่อยู่ริมน้ำโขง
ด้าน นายวันชัย ชัยวิเศษ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาเลย เปิดเผยว่า ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านประเทศพม่า และประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยตอนบน และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝน หรือฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักได้บางแห่ง
ขอให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และจังหวัดนครพนม ระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสม และฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย
อนึ่ง พายุไซโคลน “โกเมน” ที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนมีแนวโน้มเคลื่อนขึ้นฝั่งที่ประเทศบังกลาเทศ และเคลื่อนไปทางประเทศอินเดียในระยะต่อไป โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
สภาพอากาศตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีเมฆมาก กับมีฝน หรือฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี นครพนม และสกลนคร