กาฬสินธุ์ - จัดยิ่งใหญ่มหัศจรรย์แสงสีเสียง เล่าขานตำนาน “เมืองฟ้าแดดสงยาง” บวงสรวงพระธาตุยาคู สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองกาฬสินธุ์ โชว์เปิดเมืองโบราณ 1,300 ปี ระดมนักแสดงลูกหลานกาฬสินธุ์ถ่ายทอดเรื่องราวตามตำนาน
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่บริเวณพระธาตุยาคู ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหัศจรรย์แสงสีเสียง เล่าขานตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของพิธีบวงสรวงองค์พระธาตุยาคู ประจำปี 2558 โดยมีนายสิริรัฐ ชุมอุปการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ นายนพรัตน์ กอกหวาน ผอ.ททท.ขอนแก่น นายธนูสินธุ์ ไชยศิริ นายอำเภอกมลาไสย และนักแสดงทั้งหมดร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “มหัศจรรย์ แสง สี เสียง เล่าขานตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง” มีกำหนดแสดงในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ณ บริเวณพระธาตุยาคู ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่เวลา 19.00 น.เป็นต้นไป โดยเรื่องราวที่นำเสนอนั้นจะเป็นการถ่ายทอดตำนานรักของอาณาเขตเมืองฟ้าแดดสงยางระหว่างพระนางฟ้าหยาด กับพญาจันทราช แต่ไม่ได้สมหวังในรักและเป็นที่มาของการสร้างพระธาตุยาคู พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวกาฬสินธุ์ ปัจจุบันพระธาตุยาคูตั้งอยู่พื้นที่ตำบลหนองแปน อ.กมลาไสย
ทั้งนี้ ผู้รับบทเป็นพญาจันทราช หรือพระเอกในครั้งนี้คือนายธีรพงศ์ โคตะยันต์ ผู้อำนวยการสวนป่าสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ส่วนพระนางฟ้าหยาด หรือนางเอกคือนางสาว อนัญลักษณ์ ชิณะวิ นักศึกษา มมส. ชาวอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เพิ่งคว้าตำแหน่งชนะเลิศผู้แต่งกายด้วยผ้าไทยสวยงามระดับประเทศประจำปี 2558 จากกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งยังได้รับเกียรติจากนักแสดงกิตติมศักดิ์ร่วมแสดงอีกมากมาย กำกับการแสดงโดย นายสิริรัฐ ชุมอุปการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์
นอกจากนี้ ยังจะมีการแสดงที่ถือเป็นไฮไลต์ของงาน เป็นการแสดงที่สวยงาม ยิ่งใหญ่ อลังการจากวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะการถ่ายทอดท่ารำชุดนาฏลีลาฟ้าหยาด ที่เป็นอีกหนึ่งชุดการแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ เป็นการประยุกต์ท่าฟ้อนรำบรรเลงด้วยดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างวงโปงลาง ด้วยเสียงเพลงที่ไพเราะน่าฟัง ที่สำคัญชุดการแสดงชุดนี้เดินสายไปโชว์ทั่วโลกมาแล้ว
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้นอกเหนือจากเป็นพิธีบวงสรวงองค์พระธาตุยาคูตามขนบประเพณีที่ถือปฏิบัติมาแต่ช้านานแล้ว ยังเป็นการฟื้นการแสดงพื้นบ้านสาขาต่างๆ มารวมไว้ที่งานแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีโปงลาง วงดนตรีพื้นบ้านของ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบกับการฟ้อนรำบวงสรวงถวายองค์พระธาตุยาคูจาก 4 ทิศ ใช้นักแสดงเกือบ 1,000 คน การแสดงแสง สี เสียง เล่าขานตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางที่จะใช้ภาษาอีสานดำเนินเรื่องทั้งหมด และการโชว์การเส็งกลองกิ่ง ซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านอีสานที่เหลือคณะเส็งกลองกิ่งเพียง 2-3 คณะเท่านั้น” ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าว