ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ประธานกรรมาธิการการปฏิรูปค่านิยมศิลปะฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กระตุ้นคนในท้องถิ่นเปิดพื้นที่ขับเคลื่อนศิลปะ-วัฒนธรรมชุมชน ยกอำเภอสันป่าตองเป็นต้นแบบนำร่องใช้ศิลปวัฒนธรรมสร้างรายได้ดีกว่า “กลางวันเดินห้าง กลางคืนเฝ้าหน้าจอหรือรอถูกหวย”
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมาธิการการปฏิรูปค่านิยมศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปให้ดีขึ้น โดยเฉพาะชุมชนสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเสวนาเรื่อง ภูมิบ้าน ภูมิเมือง สันป่าตอง มีศิลปินล้านนา ผู้นำชุมชน และประชาชนชาวอำเภอสันป่าตอง ร่วมแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะการปฏิรูปเพื่อการขับเคลื่อนวัฒนธรรมและศิลปะชุมชน
ประธานกรรมาธิการการปฏิรูปฯ กล่าวว่า ความจริงแล้วอำเภอสันป่าตองมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงตามกระแสก็สามารถพัฒนาให้มีความเข้มแข็งได้อย่างไม่ยาก แต่ที่น่ากังวลก็คือ ขณะนี้เกือบจะเหมือนกันในหลายพื้นที่ที่เหมือน “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ” คือชาวบ้านอยู่กับสิ่งที่ตัวเองเห็นตั้งแต่เกิดจนชินตาเลยไม่รู้ว่าจะต้องอนุรักษ์หรือสืบสานอะไร ดูแล้วก็เลยไม่มีอะไรแปลก แต่แตกต่างจากคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาเห็นก็มักจะตื่นตาตื่นใจ
ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก ศิลปวัฒนธรรมของเรามักถูกกำหนดเพียง 2 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ และเอกชน ซึ่งขาดภาคประชาชนไป ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใช้ศิลปวัฒนธรรมของเขาเป็นอาวุธ เขามีการฟื้นฟูให้ศิลปวัฒนธรรมมาคู่กับประเทศ ฉะนั้นภาคประชาชนเป็นภาคส่วนที่ 3 ที่จะต้องปฏิรูปให้มีความเข้มแข็ง โดยขณะนี้รัฐธรรมนูญกำลังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไข
การปฏิรูปจะช่วยให้เกิดการดูแลดุลยภาพจาก 3 ส่วน คือ ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคประชาชนถ้าจะให้เกิดความเข้มแข็งจะต้องรวมตัวให้เกิดเป็นสมัชชา โดยจะมีกองทุนเข้ามาช่วยเหลือ และการเปิดพื้นที่ ปัญหาอยู่ที่ชุมชนต่างๆ ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้วัฒนธรรมกลายเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่จะนำมาสู่การพัฒนาประเทศ
“จึงอยากเห็นชุมชนในอำเภอสันป่าตองรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมัชชาให้ได้ และถือเป็นต้นแบบนำร่อง และอยากให้มีในทุกระดับทุกจังหวัด โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกลางวันเดินห้างกลางคืนเฝ้าหน้าจอหรือไม่ก็รอถูกหวยกันอย่างเดียว” นายเนาวรัตน์กล่าว
ด้าน นางสาวลักษมี ศรีสมเพชร อนุกรรมาธิการปฏิรูปศิลปะและวัฒนธรรม ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ความจริงแล้วในพื้นที่อำเภอสันป่าตองมีศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะหากใครที่เคยไปสิบสองปันนาเพื่อจะไปดูบ้านเรือนไทเขินที่นั่นที่มีเพียง 12 หลัง แต่บ้านไทเขินที่บ้านต้นแหนน้อย สันป่าตองมีถึง 44 หลัง ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงสิบสองปันนาแค่มาที่สันป่าตองก็ได้เห็นแล้ว
นางสาวลักษมีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้แล้ว ที่ชุมชนเวียงท่ากาน อ.สันป่าตอง ยังมีเอกลักษณ์ประเพณี คนพื้นบ้านเป็นชาวยอง ทั้งภาษาพูด การแต่งกาย วัฒนธรรม มีความเป็นอัตลักษณ์ จึงเตรียมผลักดันให้ชุมชนเวียงท่ากานเป็นพื้นที่นำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่กับวัฒนธรรม โดยคนในชุมชนกำหนดแนวทางพัฒนาในพื้นที่ของตนเองเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ขณะนี้มีหน่วยงานหลายฝ่ายกำลังช่วยกันจุดประกายชุมชนในพื้นที่ให้ออกมาช่วยกันฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมเก่าๆ ที่มีอยู่ในพื้นถิ่นให้นำออกมาอวดสายตานักท่องเที่ยว แต่ก็ยังเป็นการช่วยกันเฉพาะในส่วนของเอกชนเท่านั้น
และเมื่อคณะกรรมาธิการฯ ได้มาลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีเพื่อจะได้ช่วยกันขับเคลื่อน โดยได้รับการเกื้อหนุนจากภาครัฐเข้ามาช่วยเสริมและสนับสนุนให้มากขึ้น