xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีวิทยาศาสตร์บริการ สร้างเครือข่ายผลิตอาหารเครื่องดื่มมาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินสายสร้างความร่วมมือ ม.ท้องถิ่น ให้เป็นเครือข่ายรับรองมาตรฐานยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านอาหาร และเครื่องดื่มในกลุ่ม 4 จังหวัดเด่นภาคกลาง หลังพบสินค้าเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศเพื่อนบ้าน

วันนี้ (4 มิ.ย.) เทื่อเวลา 10.00 น. ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวระหว่างการเดินทางมาเปิดโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหาร และเครื่องดื่มในภาคกลาง ที่ห้องประชุมโชคอนันต์ อาคารเรียนรวมและอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน และ SME จาก 4 จังหวัดเด่นภาคกลาง (ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครนายก ตราด) เดินทางมาเข้าร่วมโครงการ

โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการเดินทางไปสำรวจยังในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น ลาว และกัมพูชา พบว่า ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวนั้นมีความเชื่อมั่น และนิยมใช้สินค้าที่ผลิตมาจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตมาจากประเทศจีน และเวียดนาม ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยในอาหาร และเครื่องดื่มต่อสินค้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) และเอสเอ็มอี

โดยส่วนใหญ่นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่ยังไม่ได้ผ่านการอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 342 (พ.ศ.2555) เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย (Primary GMP) เพื่อควบคุมการผลิตให้มีมาตรฐาน ลด และขจัดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากกระบวนการผลิต ตั้งแต่สถานที่ตั้ง อาคาร เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต กระบวนการ สุขาภิบาล การบำรุงรักษา และบุคลากร

การยกระดับมาตรฐานจึงต้องเริ่มจากการผลักดันให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐาน Primary GMP จนสามารถขึ้นทะเบียนขอจำหน่ายได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการเดินทางมาสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มีการจัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาคุณภาพสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหาร และเครื่องดื่มขึ้น เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารเครื่องดื่มให้มีศักยภาพสามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานต่างๆ ได้ จำนวนกว่า 100 ราย ใน 20 ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มในวันนี้

โดยมี จ.ฉะเชิงเทรา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการ โดยการทำวิจัยเชิงลึก ทั้งด้านคุณสมบัติ คุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยนั้นมีศักยภาพความพร้อมทั้งทางด้านหน่วยตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมีห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) และเครื่องมือในการรองรับบริการวิเคราะห์ และทดสอบมาตรฐานประจำภูมิภาค ในกลุ่ม 8 จังหวัดภาคตะวันออก จึงสามารถที่จะร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในการเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายในการให้บริการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อยู่แล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น