xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านยิ้มแป้น ฟันรายได้จากเงินตำบลละล้านสร้างฝายกั้นน้ำแก้แล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านตำบลดงพยุงยิ้มแป้น ถูกเกณฑ์วันละ 40 คนสร้างฝายกั้นน้ำแก้ภัยแล้งจากเงินโครงการตำบลละล้าน รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายวิโรจน์ อินสว่าง นายอำเภอดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างฝายน้ำล้น ที่ก่อสร้างโดยชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้านใน ต.ดงพยุง อ.ดอนจาน โดยนายประพาส มีสุข เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มอบหมายให้นางพรรณวดี วิทักษ์บุตร เกษตรอำเภอดอนจาน นายแสวง ยิ่งโยงสัน เกษตรตำบลดงพยุง พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขต 4 ต้อนรับที่บริเวณลำห้วยขี้ยาง หมู่ 7 ต.ดงพยุง

โดยบรรยากาศการก่อสร้างเป็นไปด้วยความคึกคัก ด้วยแรงงานชาวบ้านทั้งช่างเหล็ก ช่างปูน และแรงงานอื่นกว่า 40 คน กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 45 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. ถึง 24 มิ.ย.นี้

นายวิโรจน์กล่าวว่า กิจกรรมสร้างฝายน้ำล้นของชาวบ้านตำบลดงพยุงเป็นฝายน้ำแบบ มข.2557 งบประมาณทั้งค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานรวม 999,818 บาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยผ่านกระบวนการประชาคมจากชาวบ้านในตำบลเป็นอันดับแรก

จากนั้นคณะกรรมการจะเข้ามาตรวจสอบพื้นที่และเริ่มดำเนินการ โดยให้ชาวบ้านจัดตั้งคณะกรรมการดูแลและบริหารจัดการด้วยตนเอง ตั้งแต่การจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน ยึดหลักการเบิกจ่ายเช่นเดียวกันกับระบบข้าราชการ

นายแสวงกล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของเกษตรตำบล คือ การเป็นพี่เลี้ยงและคอยแนะนำอย่างใกล้ชิด แต่ละโครงการต้องมีความโปร่งใส ผ่านความเห็นชอบของชาวบ้านทุกขั้นตอน โดยฝายน้ำล้นแห่งนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่ชาวบ้านได้ ทำชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งถึง 200 ไร่ และในฤดูฝนอีก 500 ไร่ โดยงบประมาณ 999,818 บาท แยกเป็นค่าวัสดุก่อสร้าง 470,393 บาท หรือร้อยละ 47.05 และค่าแรงงาน 529,425 บาท หรือร้อยละ 52.95

ด้านนายโสฬส หารปัญญา อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านป่าไผ่ กล่าวว่า โครงการนี้จะเกณฑ์ชาวบ้านในกลุ่มของแรงงานวันละ 40 คน รายได้ 300 บาทต่อวัน ช่างปูนช่างเหล็กวันละ 5 คน ค่าแรงวันละ 495 บาท เฉลี่ยชาวบ้านจะหมุนเวียนเข้ามาทำงาน 5-8 วันต่อคน รายได้ประมาณ 1,500-2,400 บาท โดยมีการจัดสรรคิวอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ โครงการตำบลละล้านที่ลงสู่ชุมชนทำให้ชาวบ้านได้บริหารจัดการเงินด้วยตนเองตั้งแต่เริ่มจนจบงาน นอกจากจะได้ฝายน้ำล้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่แล้วยังมีรายได้อีกด้วย ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากๆ ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง



กำลังโหลดความคิดเห็น