xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ กำชับ กรอ.รับมือรัฐจัดระเบียบสวนยาง-ไร่ข้าวโพดรุกป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - ผู้ว่าฯ เมืองแพร่ กำชับ กรอ.เร่งหามาตรการรับมือ หลังรัฐบาล-คสช.จัดระเบียบสวนยาง-ไร่ข้าวโพดรุกป่า เชื่อส่งผลกระทบเศรษฐกิจระดับจังหวัดแน่ แต่ระยะยาวช่วยแก้ปัยหาราคา และสิ่งแวดล้อมได้

วันนี้ (1 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรัฐบาลพยายามที่จะคืนพื้นที่ป่าเพื่อกลับมาสู่การรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดีเดย์ตัดโค่นสวนยางพารารุกป่าทั่วประเทศในวันนี้ ซึ่ง “แพร่” เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการรุกป่าเพื่อปลูกสวนยาง-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก และเป็นกลุ่มจังหวัดในชุดที่ 2 ที่รัฐบาลมีแผนทวงคืนพื้นที่นั้น

นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวในที่ประชุม กรอ.แพร่ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดแพร่ ครั้งล่าสุดว่า คสช.มีมาตรการการทวงคืนพื้นที่ป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมความสมดุลของธรรมชาติ จึงมีการจัดระเบียบป่า ในภาพรวมพบว่า ปัญหาใหญ่คือ พืชเชิงเดี่ยว ทั้งข้าวโพด และยางพารา

เฉพาะยางพารา พบว่า มีการบุกรุกปลูกในภาคเหนือมากถึง 5 ล้านไร่ เป็นของนายทุนประมาณ 1.5 ล้านไร่ ทั้งหมดจะใช้เวลาในการยึดคืนเป็นเวลา 2 ปี ในปีนี้ต้องยึดคืนให้ได้ 5 แสนไร่ ปีหน้า 9 แสนไร่ จังหวัดที่มีการกระทำผิดมากคือ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ จังหวัดละประมาณ 200,000 ไร่ ส่วนจังหวัดแพร่ มีการบุกรุกปลูกสวนยางพารา จำนวน 4,000 ไร่ ปีนี้ขอคืน 2,000 ไร่ ปีหน้าอีก 2,000 ไร่

โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าตัดต้นยาง ถ้าเป็นที่ ส.ป.ก.จะยึดคืนมาจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ยังไม่มีที่ทำกินใหม่ ถ้าเป็นที่ป่าก็จะส่งมอบให้แก่ผู้รับผิดชอบป่าเพื่อทำการฟื้นฟูต่อไป

ส่วนข้าวโพดในจังหวัดแพร่ ที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องก็มีจำนวนมากเช่นกัน จนถูกพ่อค้ากดราคาเสมอมา เวลาผลผลิตออกมีผู้รับซื้อไม่กี่ราย ทำให้ผู้ซื้อกำหนดราคารับซื้อได้ และยิ่งเกษตรกรปลูกมากขึ้น จะมีการบีบราคาลงมาทำให้เกษตรกรในภาคกลางที่ปลูกข้าวโพดได้ดี ในพื้นที่ชลประทาน 10 ล้านไร่ พากันเข็ดหลาบต่อการกดราคาของพ่อค้ารายใหญ่

เมื่อภาคกลางไม่ปลูกทำให้บริษัทพยายามส่งเสริมการปลูกกันทางภาคเหนือ ซึ่งข้าวโพดในภาคเหนือมีปัญหามาก ทั้งเรื่องราคาที่เกษตรกรจะได้รับ และสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐบาลมีมาตรการลดการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่าเขาบนที่สูงที่ครอบครองที่ดินโดยไม่ถูกต้อง ไม่มีเอกสารสิทธิ ผู้รับซื้อจะถูกตรวจสอบว่าเอาผลผลิตข้าวโพดมาจากแหล่งใด จะมีการจดทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดอย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิก็จะไม่รับขึ้นทะเบียน ถือเป็นมาตรการแก้ปัญหาการทำลายป่าในพื้นที่สูงโซนภาคเหนือตอนบน

“จังหวัดแพร่จึงอยากส่งสัญญาณให้แก่คณะกรรมการ กรอ.ให้รับทราบว่า ไม้หนึ่งคือ ยางพารา ไม้สองคือ ข้าวโพด อาจส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระดับจังหวัดบ้าง แต่ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งราคา และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้”

นายศักดิ์ กล่าวว่า โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของจังหวัดแพร่ในปีนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะฤดูกาลผลิตข้าวโพด ซึ่งกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดในหลายตำบลของ อ.ร้องกวาง อ.เมือง อ.ลอง อ.สอง อ.เด่นชัย มีปัญหาเอกสารสิทธิในที่ดินทั้งสิ้น หรืออาจเกิดการประท้วงของกลุ่มผู้ปลูกสวนยางในพื้นที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น กรอ.แพร่ ควรมีมาตรการออกมารองรับผลกระทบที่จะตามมาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น