บุรีรัมย์ - เกษตรจังหวัดร่วมกับหลายหน่วยงานจัดรณรงค์พร้อมสาธิตการทำนาหยอดแทนนาหว่าน ในพื้นที่นาดอนและแห้งแล้ง เป้าหมายกว่า 4,700 ไร่ ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตข้าว ส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรมครบวงจร
วันนี้ (28 พ.ค.) สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สถานีพัฒนาที่ดิน ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจ.สุรินทร์ และเกษตรอำเภอกระสัง จัดกิจกรรม “รณรงค์ลดต้นทุนการผลิตข้าวโดยสาธิตการทำนาหยอด ในโครงการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรมครบวงจร” ที่บริเวณแปลงนาบ้านกะนัง ม.11 ต.บ้านปรือ อ.กระสัง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการด้านการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าว ทั้งพัฒนาให้เป็นจุดเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการเชิงอุตสาหกรรมด้วย ที่สำคัญ การทำนาหยอดสามารถทำได้ในพื้นที่นาดอนและพื้นที่ภัยแล้ง โดยปีนี้มีเป้าหมายรณรงค์ทำนาหยอดนำร่องในพื้นที่บ้านกะนังก่อน 393 ราย เนื้อที่ 4,760 ไร่ จากนั้นก็จะรณรงค์ส่งเสริมขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
นายวันชัย ทิพย์อักษร เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การรณรงค์และสาธิตการทำนาหยอดในครั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างการทำนาแบบลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เนื่องจากการทำนาแบบหยอดมีอัตราในการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 8 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากนาหว่านจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ถึง 30 กิโลกรัม ใช้เมล็ดพันธุ์ลดลงถึงไร่ละ 12 กิโลกรัม
ทั้งคุณภาพข้าวหอมมะลิจะดีกว่านาหว่าน เพราะมีการเรียงเป็นแถว ปราศจากพันธุ์ข้าวอื่นปน และเมื่อข้าวมีคุณภาพดีก็จะขายได้ราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนาหยอด ทางโรงสีจะรับซื้อสูงกว่าท้องตลาดถึงกิโลกรัมละ 2 บาท ดังนั้น หากเปรียบเทียบการทำนาหยอดจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่านาหว่านถึง 1,350 บาทต่อไร่