xs
xsm
sm
md
lg

เผยนาทีระทึก! ช่วยชีวิตแม่ลูก 8 ชาวปกากะญอขึ้น ฮ. ส่งคลอด รพ.ตากสิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตาก - ทีม SKY DOCTOR โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองตาก รับหญิงท้องแก่ 8 เดือนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ หลังเด็กมีท่าคลอดผิดปกติ เกรงได้รับอันตรายทั้งแม่-ลูก สุดท้ายเด็กไม่รอดแต่แม่ปลอดภัย

วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายแพทย์ ละลิ่ว จิตต์การุญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อ.เมือง จ.ตาก เปิดเผยความคืบหน้ากรณีที่เจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลทีม SKY DOCTOR ของโรงพยาบาล พร้อมเฮลิคอปเตอร์หน่วยบินกองกำลังนเรศวร กองทัพภาคที่ 3 เดินทางไปรับนางมะโยซอ อายุ 42 ปี มีประวัติตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์ หรือประมาณ 8 เดือน แต่อาการผิดปกติ เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด โดยเด็กในครรภ์หันก้นเตรียมคลอดในท่าผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็ก จากหมู่บ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวปกากะญอ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า

โดยทันทีที่ถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทางคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ประชุมเพื่อให้การช่วยเหลือ ทราบว่าเป็นการตั้งครรภ์บุตรคนที่ 8 อัลตราซาวนด์ประเมินสถานการณ์แม่และทารกในครรภ์ พบว่าทารกมีภาวะผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ และมีภาวะรกเกาะต่ำ เฝ้าดูอาการประมาณ 10 ชั่วโมงจึงตัดสินใจผ่าคลออดเพื่อช่วยชีวิตแม่และเด็กในเวลา 22.00 น. คืนที่ผ่านมา (27 พ.ค.) เป็นทารกเพศหญิง น้ำหนักตัว 1,300 กรัม

แต่เนื่องจากสภาวะครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ทารกเสียชีวิต ซึ่งนางมะโยซอแม้จะเสียใจ ที่ต้องสูญเสียทารกในครรภ์แต่ก็เข้าใจถึงภาวะเจ็บป่วยที่ผิดปกติของครรภ์มาก่อนหน้านี้ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มีแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ ดูแลทั้งสภาพร่างกายและฟื้นฟูจิตใจของนางมะโยซออย่างใกล้ชิด

ด้านแพทย์หญิง เบจมาส มั่นอยู่ แพทย์เฉพาะทางด้านสูตินารีเวชกรรม เจ้าของไข้ ซึ่งเคยประจำอยู่ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง บอกว่า อำเภออุ้มผางส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทุรกันดาร แต่ละหมู่บ้านจะเดินทางมาตัวอำเภอ ใช้ระยะเวลาหลายชั่วโมง เช่น หมู่บ้านเลตองคุ ต้องเดินทางกว่า 4-5 ชั่วโมง ซึ่งจะมีหน่วยแพทย์ของโรงพยาบาลอุ้มผาง และหน่วยแพทย์ พอ.สว. เดินทางเข้าไปเยี่ยมเยียนให้บริการอยู่เสมอ รวมถึงการนำเครื่องอัลตราซาวนด์เคลื่อนที่ไปตรวจให้บริการชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ตั้งครรภ์

ทั้งนี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หรือประสงค์จะมีบุตรที่อายุเกิน 35 ปีควรได้รับการฝากครรภ์ และตรวจครรภ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติ ทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์

ซึ่งนางมะโยซอแม้ว่าจะสูญเสียทารกในครรภ์ แต่ก็ยังถือว่าได้รับโอกาสทางการแพทย์อย่างสมบูรณ์ ฉับไว แม้อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สามารถช่วยและรักษาชีวิตแม่ไว้ได้ ก่อนที่จะเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งอาจส่งผลให้นางมะโยซอเสียชีวิตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น